One Axis, Four Belts และ Six Zone คือ 3 ยุทธศาสตร์หลักของแนวทางการพัฒนาจังหวัดแพร่เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่เออีซี ในฐานะที่แพร่กำลังจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมซึ่งมีชุมทางรถไฟเด่นชัยเดิมเป็นพื้นฐานเริ่มต้นก่อนที่โครงการพัฒนาโครงการข่ายทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ “รถไฟรางคู่เป็นสิ่งที่ชาวแพร่รอมาถึง 70 ปี โดยเริ่มต้นจากเด่นชัย จ.แพร่ เข้าสู่ลำปาง พะเยา ก่อนจะข้ามไปเชียงราย และเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวที่ อ.เชียงของ โดยรถไฟรางคู่นี้จะเป็นเหมือนกระดูกสันหลังสำคัญให้กับการก้าวสู่เออีซี เราจึงนำจุดนี้มาเป็นแนวหรือแกนในการพัฒนาระดับพื้นที่ต่อไป ซึ่งในอนาคตแพร่จะเป็น Railhub ที่สำคัญมากขึ้นจากเดิมที่เป็นชุมทางใหญ่อยู่แล้ว” นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ระบุ ขณะที่ยุทธศาสตร์ด้านต่อมาอย่าง Four Belts นั้นกำหนดให้มีการพัฒนาเมืองคู่โดยหาศักยภาพในด้านต่าง ๆ ของแต่ละอำเภอแล้วจับคู่กันเพื่อผลักดันความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว อ.เมืองแพร่กับ อ.สอง ด้านการเกษตรคุณภาพสูง อ.หนองม่วงไข่กับ อ.ร้องกวาง ด้านโอทอป อ.สูงเม่นกับ อ.เด่นชัย และด้านป่าเศรษฐกิจ อ.ลองกับ อ.วังชิ้น “ด้านท่องเที่ยวนั้นแพร่จัดเป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,200 ปี ขณะที่ด้านการเกษตรแพร่สามารถผลิตข้าวหอมดอกมะลิ 105 ได้ปีละกว่า 5,000 ตัน ส่วนป่าเศรษฐกิจของแพร่นั้นก็คือไม้สักทอง ซึ่งจะมีการเพิ่มไม้ผลอย่างเงาะ ลองกอง ทุเรียนเข้าไปด้วย” สำหรับ Six Zone นั้นจะยึดตามการพัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่ซึ่งจะผ่านพื้นที่จังหวัดแพร่ถึง 82 กิโลเมตร 5 อำเภอ 23 ตำบล จำนวน 5 สถานี 6 แห่ง “สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแรกก็คือ ศูนย์เก็บกองสินค้า เพราะการค้าชายแดนทางภาคเหนือมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่การขนส่งทางรถยนต์มีต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากเปลี่ยนมาขนส่งด้วยระบบรางต้นทุนจุดนี้จะลดลง ทั้งสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และลดปัญหาสินค้าเสียหายระหว่างการขนส่งไปพร้อมกัน โดยเฉพาะสินค้าการเกษตรซึ่งน่านและพะเยาเป็นแหล่งผลิตข้าวโพด ถั่วเหลือง และพริกที่สำคัญ” นอกจากลานเก็บกองสินค้าซึ่งจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพในการขนถ่ายสินค้าจากระบบรางสู่ระบบถนนแล้ว โซนเศรษฐกิจใหม่คือสิ่งที่จะมาทดแทนเมืองเก่าที่จะถูกอนุรักษ์ไว้ โดยยึดเอาสถานีรถไฟเมืองแพร่และแม่ลายเป็นจุดหลัก ที่ดินกว่า 600 ไร่ที่เคยจะถูกพัฒนาเป็นศูนย์ราชการจะได้รับการนำมาปัดฝุ่นใหม่ “เมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นทางราชการจะต้องเป็นผู้นำโดยเรามีแผนที่จะเริ่มด้วยโครงการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งที่ 3 ของประเทศซึ่งจะเกิดขึ้นที่แพร่ ก่อนจะตามไปด้วยสนามกีฬา และวิทยาลัยชุมชนซึ่งมีแผนที่จะควบรวมสถาบันการศึกษาหลายแห่งของภาคเหนือเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งรวมทั้งโรงเรียนป่าไม้เดิมที่เคยมีและหายไปหลังจากนโยบายปิดป่า เมื่อราชการนำไปก่อนแล้วพื้นที่ของภาคเอกชนที่อยู่โดยรอบก็จะค่อย ๆ พัฒนาตามมา” ขณะที่โซนอุตสาหกรรมนั้นสำหรับแพร่จะไม่ใช่แหล่งผลิตสินค้า แต่จะเน้นไปที่การประกอบชิ้นส่วน ซึ่งจะเกิดตามมาหลังโครงการรถไฟรางคู่เริ่มต้น โดยมีเนื้อที่ประมาณ 1,250 ไร่ ซึ่งจะมีการวางผังเมืองควบคุมให้อยู่ในฐานะนิคมอุตสาหกรรม ส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้สักที่ทำรายได้ให้กับแพร่ถึงปีละกว่า 5,000 ล้านบาท จะถูกผลักดันขึ้นมาให้เป็นสินค้าถูกกฎหมายทั้งหมด โดยแพร่มีพื้นที่ป่าสักปลูกที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2453 ทั้งในส่วนขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) และเอกชนรวมกันถึง 1.5 แสนไร่ เช่นเดียวกับสุราพื้นบ้านของ ต.สะเอียบ อ.สอง ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 200 ปี สร้างรายได้ให้รัฐถึง 330 ล้านบาทในช่วงเวลาเพียง 10 เดือน ส่งขายใน 33 จังหวัด จะได้รับการยกระดับเพิ่มมูลค่าให้เทียบเท่ากับสาเกของญี่ปุ่น หรือเหมาไถของจีน ซึ่งจะเน้นการเป็นของที่ระลึกเน้นตลาดบนรองรับเออีซีโดยเฉพาะ ก่อนจะตบท้ายด้วยการเปลี่ยนฐานะของผู้ผลิตข้าวหอมมะลิที่มีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ไปอยู่ในฐานะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิซึ่งประเทศไทยกำลังขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์พัฒนาและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพสูง “ปัจจุบันนี้จีดีพีของแพร่อยู่ที่ 3 หมื่นล้าน ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 64 ของประเทศ หากการเปลี่ยนฐานะไปเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีป้อนให้กับตลาด จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า ขณะที่ไม้สักหากนำเข้าระบบทั้งหมดจาก 5,000 ล้านจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้าน ก็จะยิ่งทำให้จีดีพีขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้แพร่ไม่เป็นจังหวัดที่ถูกมองว่ายากจนอีกต่อไป” ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวทิ้งท้าย.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘แพร่’ ปรับยุทธศาสตร์เดินหน้าสู่เออีซี

Posts related