นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงานสัมมนาเวทีสาธารณะ เรื่องก้าวใหม่ประเทศไทย เดินหน้าสู่โหมดปฏิรูป หัวข้อสู่การปฏิรูปที่ปฏิบัติได้จริง จัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่า เงื่อนไขสำคัญในการปฏิรูปให้เกิดขึ้นจริงมี 5 เงื่อนไขที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องของสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งเป็นเงื่อนไขแรก จะต้องยุติโดยเร็ว เพราะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และไม่ใช่เกิดการถดถอย แต่กำลังทรุด เพราะปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโต ทั้งการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคในประเทศ และการลงทุน กำลังผุกร่อนไม่มีแรงผลักดันเพียงพอ สะท้อนให้เห็นจาก ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 56 ขยายตัวได้เพียง 2.9% เท่านั้น “ตอนนี้ถือว่าย่ำแย่แล้ว ในเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยกำลังหดตัวลึกลงไป รอดูจากผลประกอบการ หรือยอดขายของเอกชนในช่วง 2-3 เดือนนี้ได้ว่าจะลดลงอย่างไร ส่วนปัญหาเรื่องข้าวถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอย่างน้อยมีชาวนาและคนในครอบครัวกว่า 30-40 ล้านคน ถ้าไม่มีกำลังใช้จ่ายจะเกิดวิกฤตขึ้นอย่างแน่นอน แม้ว่าในปี 40 ประเทศไทยจะรอดมาได้เพราะชาวนาไม่ได้รับผลกระทบ จึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง เหมือนกับคำกล่าวหนึ่งที่บอกว่า ชาวนาตาย 1 คน พ่อค้าตาย 100 คน เพราะส่งผลกระทบหมดถ้าชาวนาไม่มีกำลังซื้อ ขณะเดียวกันสินค้าที่ขายดีช่วงวิกฤต ทั้งเครื่องดื่มบำรุงกำลัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตอนนี้ยอดขายก็ทรุด หมายความว่ารายได้เริ่มหายไป ” ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ยังส่งผลให้การลงทุนจากต่างชาติชะงักลงอย่างแน่นอน โดยการตั้งความหวังว่าจะมีโครงการขอส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติประมาณ 400,000-500,000 ล้านบาทในปีนี้ คงเป็นเหมือนฝันกลางวัน ปฏิกิริยาลูกโซ่ของปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยจมดิ่งและลึกลงไป เหมือนกับก้อนน้ำแข็งละลาย ขณะที่ภาพความรุนแรงที่ปรากฏขึ้นยังกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นใจในระดับสากลที่มีต่อเมืองไทย ยิ่งเวลานี้ในช่วงที่ต้องมีการเซ็นสัญญาระหว่างประเทศ คงไม่มีประเทศใดเชื่อเครดิตประเทศไทยอีกต่อไป เพราะเป็นประเทศที่ไม่มีรัฐบาล และไม่รู้ว่าปัญหาจะจบเมื่อใด และตอนนี้ประเทศได้เปิดประตูเข้าไปสู่การเป็นรัฐล้มเหลวแล้วจึงไม่ควรก้าวลึกไปกว่านี้อีก ส่วนเงื่อนไขที่ 2 เป็นเงื่อนไขของผู้นำและสภาวะผู้นำ ต้องมีผู้นำที่ไม่ใช่แค่นั่งเป็นประธาน แต่งตั้งคณะกรรมการ แต่ต้องเป็นผู้นำที่สามารถกำกับและขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรค มีวิสัยทัศน์เพียงพอ สามารถสื่อให้ประชาชนเห็นตามอย่างเข้าใจ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ผ่านมาเรามักไม่ค่อยได้เห็นผู้นำที่นำความเปลี่ยนแปลงมาให้เห็น ดังนั้นหากจะปฏิรูปจริงต้องหาคนเหล่านี้ให้เจอก่อน ขณะที่เงื่อนไขที่ 3 เป็นการบริหารจัดการที่มุ่งหวังผลจริง โดยต้องมีจุดมุ่งหมายปฏิรูปเพื่ออะไร แบ่งงานออกมาให้ชัดเจน เช่น ปฏิรูปการศึกษา การเกษตร การคลัง และงบประมาณ โดยแต่ละเรื่องต้องมีผู้นำรับผิดชอบมาเป็นคนขับเคลื่อน โดยเป็นผู้มีความรู้สิ่งเหล่านั้น อาจเป็นรัฐมนตรีอาวุโส หรือผู้นำจากภายนอกที่มีคนยอมรับ และรายงานความคืบหน้าสู่สาธารณะด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายที่นำไปสู่การออกกฎหมายที่ชัดเจน ต่อมาเป็นเงื่อนไขของการขับเคลื่อนสังคม โดยการปฏิรูปไม่ใช่การแก้กฎหมาย แต่เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในสังคมจากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่งที่ดีกว่า สามารถทำให้รู้ว่าการปฏิรูปนี้เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับตัวเอง เช่น เรื่องคอร์รัปชั่น ต้องสร้างความเข้าใจให้ซึมซับไปในความรู้สึกของประชาชน ในสามารถช่วยกันแก้ไข นอกจากนี้ยังต้องให้พลังพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปอย่างแท้จริง ขณะที่เงื่อนไขสุดท้าย คือการมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งมัน เพื่อดำเนินการปฏิรูปเพราะที่ผ่านมาแผนงานต่างๆมักถูกหยุดชะงักเมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่าง หรือจางหายไปตามระยะเวลา แต่ถ้าภาคประชาสังคม ทั้ง ประชาชน เอกชน และสื่อมวลชน เข้มแข็งจะไม่มีพลังไหนจะเข้ามาต่อต้านได้ และจะไม่มีรัฐบาลไหนมาเล่นลิเก ตั้งคณะกรรมการแล้วก็เลิกได้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : “สมคิด” แนะ 5 เงื่อนไขปฏิรูปประเทศ

Posts related