ท่ามกลางภาวะการเมืองในเวลานี้ ได้ฉุดรั้งให้ไทยต้องตกอยู่ในภาวะสุญญากาศอย่างสิ้นเชิง โดยที่ไม่รู้ว่าอนาคตของประเทศจะเดินไปในทิศทางใด? แม้สุดท้ายรัฐบาลรักษาการของ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้ดึงดันให้การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นได้เมื่อวันที่ 2 ก.พ. แต่ก็ผ่านไปอย่างทุลักทุเลท่ามกลางปัญหาสารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวน ส.ส. จะครบตามกฎหมายจนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ! เพราะตามรัฐธรรมนูญแล้วต้องมีจำนวน ส.ส. 95% หรืออย่างน้อย 475 คน จากทั้งหมด 500 คน จึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ หากมีไม่ครบก็ไม่สามารถตั้งได้ นั่น…หมายความว่ารัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไปอีกอย่างน้อย 3-6 เดือน ถามว่า? ณ เวลานั้นอะไรจะเกิดขึ้นบ้างกับเศรษฐกิจของประเทศ ความฝันความหวังของหลาย ๆ คนที่ตั้งไว้ว่าในปีม้านี้จะเป็นปีม้าที่คึกคักเป็นปีม้าที่พุ่งทะยานที่สามารถกู้หน้าเศรษฐกิจปี 56 ที่ดิ่งเหว กลับต้องมลายหายไปหมด เห็นได้จากบรรดากูรูเศรษฐกิจทั้งหลายต่างออกมาปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยกันเป็นแถวไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติ  กระทรวงการคลัง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรือศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นต้น ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 นี้จะเติบโตได้น้อยกว่า 3% แม้ว่าทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นและเป็นความหวังของเอกชนไทยอีกครั้ง แต่คงไม่พอและไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขึ้นมากู้หน้าได้! เพราะปัญหาการเมืองที่ลุกลามบานปลายมีความรุนแรงขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และไม่รู้ว่าจบลงเมื่อใดได้เป็นตัวฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยเตี้ยลง…เตี้ยลง… กระตุกทุกฝ่ายต้องเสียสละ ด้วยเหตุนี้ปัญหาการเมืองกำลังกลายเป็นหอกข้างแคร่…ของคนในชาติ ดังนั้นการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายของบรรดาภาคเอกชน เห็นได้จากภาคเอกชนที่ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็น “ไพบูลย์ พลสุวรรณา” ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก ที่บอกว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของไทย เพราะถึงแม้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ แต่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะความรุนแรง ที่สำคัญการเลือกตั้งยังไม่สามารถยุติรอยร้าว ความบาดหมางของสังคมไทยได้ เพราะเวลานี้ยังมีกลุ่มบุคคลอีกจำนวนมากที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง และมีโอกาสชุมนุมต่อต้านรัฐบาลต่อไปอีก ส่วนตัวแล้วมองว่าทางออกของปัญหาบ้านเมืองครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย ควรต้องเสียสละและผ่อนคลายการยึดมั่นอำนาจทางการเมืองลงบ้าง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ มาจากการมุ่งชนะการมีอำนาจทางการเมืองมาครอง ดังนั้นรัฐควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม ก่อนการเมือง เหมือนประเทศพัฒนาแล้ว เพราะหากเศรษฐกิจดี ประชาชนมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง คนจะมีการศึกษา มีความรู้ ซึ่งนำมาสู่ระบอบการคิดทางการเมืองที่ถูกต้อง เป็นรากฐานประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง  รัฐต้องจริงใจปฏิรูปกว่าเดิม เช่นเดียวกับที่ “พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล” รองประธานหอการค้าไทย มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาของประเทศ แต่ถ้ารัฐบาลตัดสินใจให้เดินหน้าเลือกตั้งแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของรัฐต้องดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดความรุนแรงตามมา ขณะเดียวกันการเลือกตั้งยังไม่ได้การันตีว่า จะได้รัฐบาลกลับเข้ามาบริหารประเทศโดยเร็ว เพราะมีหลายเขตยังจัดเลือกตั้งไม่ได้ หรืออาจมีปัญหาที่ไม่คิดไม่ฝันตามมาอีกมาก ดังนั้นส่วนตัวเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบที่ยุติความขัดแย้ง    แต่ในเมื่อรัฐบาลเลือกเดินหน้าเลือกตั้ง และมีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ การแสดงความจริงใจให้มากกว่าเดิม ที่จะเข้ามาปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมือง เช่น ไม่ต้องทำนโยบายประชานิยมใดเลย และกำหนดเลยว่ามีแนวทางปฏิรูปอย่างไร มีตัวแทนจากใคร ใช้เวลาเท่าใด  หากปฏิรูปเสร็จ อาจยุบสภาและลงเลือกตั้งใหม่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งหากทำได้อาจพอบรรเทาความร้อนแรงได้บ้าง ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมาย ด้าน “วิเชียร พวงลำเจียก” นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย มองว่า ขณะที่บ้านเมืองยังไม่รู้ว่ามีทางออกอย่างไร เพราะฝั่งที่ต่อต้านยังไม่รู้ว่าจะปฏิรูปประเทศแบบใด ดังนั้นสิ่งที่ควรทำ คือการยึดกติกากฎหมายในการแก้ปัญหาให้ประเทศ เพราะเมื่อรัฐบาลยุบสภาแล้ว ต่อมาควรจัดการเลือกตั้ง ให้ประชาชนเสียงส่วนใหญ่เป็นผู้เลือก เพราะจริงอยู่เสียงส่วนน้อยที่ไม่ต้องการเลือกตั้ง ก็ต้องรับฟัง แต่ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ยังต้องการการเลือกตั้งอยู่ เลือกตั้ง 2 ก.พ. แก้ที่ปลายเหตุ ด้าน “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย)  และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานอุตสาหกรรมจังหวัด มองว่า  การเดินหน้าเลือกตั้งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  เพราะถ้าต้องการยุติปัญหาจริง ๆ ต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุของปัญหา คือ ต้องมีการปฏิรูปให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือหลังการเลือกตั้ง ก็ต้องปฏิรูป  เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง หรือข้าราชการ ต้องมีกฎกติกาบทลงโทษให้ชัดเจน เช่น ประเทศจีน มีการกวาดล้างจับกุมนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่คนใดที่คอร์รัปชั่นต้องถูกลงโทษติดคุก  เชื่อว่าแนวทางนี้สามารถทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นลดลงได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบลามไปสู่ภาคต่าง ๆ แล้ว ทั้งภาคการท่องเที่ยว แม้ตอนนี้ยังมีนักเดินทางเดินทางเข้ามา เพราะมีการจองล่วงหน้า แต่ต่อไปถ้าปัญหายังไม่จบ ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามา รวมทั้งปัญหาของภาคการลงทุน ที่ขณะนี้นักลงทุนเริ่มชะลอการลงทุนแล้ว เพราะไม่รู้อนาคต ข้อยุติปัญหายังมืดบอด ไม่แตกต่างไปจากความเห็นของ “วิศิษฎ์ ลิ้มประนะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ง่วนสูน (1974) เยาวราช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายพริกไทย เครื่องเทศ  และรองประธาน ส.อ.ท.  ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ที่เชื่อว่า การเลือกตั้งไม่ได้ทำให้ปัญหายุติและไม่มีอนาคตว่าต้องเลือกตั้งกันกี่ครั้งกี่หน จึงจัดตั้งรัฐบาลได้  ถ้ายังไม่หันหน้าแก้ปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง  ปัญหาคงอยู่ต่อไป  ซึ่งขณะนี้ทุกภาคส่วนต้องการเห็นการแก้ปัญหาให้ยุติโดยเร็ว เพราะเกรงว่าสถานการณ์ยิ่งยืดเยื้อเท่าใด ธุรกิจจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องเท่านั้น เอสเอ็มอีต้องรับกรรม ขณะที่ “เพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด” นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยหรือเอทีเอสเอ็มอี  ที่แม้ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับปัญหาของการเมือง แต่ในฐานะที่เป็นเอสเอ็มอีก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหา เอสเอ็มอีก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่เป็น กลุ่มฐานรากของประเทศ  มีสายป่านทางการเงินระยะสั้น หากปัญหายังยืดเยื้อ ยิ่งได้รับผลกระทบการทำธุรกิจหนักขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้เอสเอ็มอีกำลังได้รับผล กระทบอย่างหนัก ทั้งลูกค้าชะลอออร์เดอร์ ซ้ำร้ายเก็บเงินค่าสินค้าจากผู้ประกอบการกันเองไม่ได้ เพราะเริ่มเบี้ยวการชำระเงินแล้ว หลายรายต้องชะลอการลงทุนเพิ่มเติม เพราะเดาอนาคตไม่ออกว่า ถ้ากู้เงินจากธนาคารมาลงทุนแล้ว จะมีเงินหมุนเวียนจ่ายได้หรือไม่  จึงต้องฝากไปยังฟากการเมืองว่าผู้ประกอบการไม่รู้หรอกว่าใครผิดใครถูก แต่ต้องการให้ปัญหาสงบและยุติโดยเร็วที่สุด…ก็เท่านั้น หรือแม้แต่ในฟากของฝั่งตลาดทุนอย่าง  “ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) และในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ที่บอกว่า การเลือกตั้งไม่ได้ทำให้ปัญหาการเมืองจบลง เพราะไม่รู้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ ทำให้ปัจจัยทางด้านการเมืองจะเป็นตัวกดดันและความเสี่ยงต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่อไป จากที่เวลานี้หุ้นไทยก็อยู่ในอาการซึม เพราะปริมาณการซื้อขายน้อยลง หลังนักลงทุนชะลอการลงทุนโดยมองว่าในช่วง 1 สัปดาห์จากนี้ นักลงทุนต่างชาติคงไม่กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยจนกว่าสถานการณ์จะชัดเจน ขณะที่ในภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก อย่าง “ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว บอกว่า เมื่อเกิดการเลือกตั้งขึ้นแล้วก็ต้องทำให้เรียบร้อยได้จริง และมีรัฐบาลที่พร้อมเข้ามาบริหารประเทศต่อ โดยภาคการท่องเที่ยวต้องการมากที่สุด คือต้องเร่งสร้างภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวให้ต่างชาติเข้าใจได้โดยเร็วว่า มีความสงบแล้ว และพร้อมรับนักท่องเที่ยวได้  เช่นเดียวกับที่ “ปิยะมาน เตชะไพบูลย์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) มองไว้ด้วยเช่นกันว่า จะอย่างไรการท่องเที่ยวยังเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าเวลานี้ไม่มียอดนักท่องเที่ยวใหม่เข้ามาก็ตามเพราะไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความร่วมมือกัน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวโดยเร็วที่สุด รวมทั้งต้องทำให้ภาพลักษณ์ของไทยกลับมาเป็นเมืองแห่งรอยยิ้มให้ได้ในเร็ววัน เลือกตั้งไม่ได้แก้ปัญหา ด้าน “ชาย ศรีวิกรม์” นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์  มองว่า  เวลานี้ทุกอย่างยากต่อการคาดเดาและไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะชี้วัดทางออกของประเทศได้หรือไม่ เพราะเอกชนยังสับสน แต่เชื่อว่าทุกคนต้องการผลลัพธ์เหมือนกันคือประเทศต้องโปร่งใส ไร้คอร์รัปชั่น กระจายรายได้ทั่วถึง แต่หากการเมืองยังยืดเยื้อไม่จบสิ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นแก่ชาวต่างชาติ  เหมือน ๆ กับ “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ที่มองว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ และมองไม่เห็นทางออกของปัญหา โดยส่วนตัวมองว่าถ้านายกฯ รักษาการลาออกทุกอย่างน่าจะจบ และเริ่มต้นประเทศไทยอีกครั้งกับรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเวลานี้ประเทศไทยกำลังเละตุ้มเป๊ะทุกอย่างเสียหายหมด หากไม่รีบจบปัญหาโดยเร็วเศรษฐกิจไทยจะยิ่งลงเหวมากกว่านี้ เช่นเดียวกับ  “อธิป พีชานนท์” นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอาคารชุดไทย ที่เชื่อว่า การเลือกตั้งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเพราะต่างฝ่ายต่างถือว่าตัวเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ ซึ่งมองกันคนละด้าน ยืนกันอยู่คนละฝั่ง เมื่อหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ถือว่าไม่มีประโยชน์อะไร ถึงเลือกตั้งไปก็ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นถ้าจะมองให้ทะลุปัญหานี้ไป ต้องมีคนกลาง ต้องหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้ ยุติเรื่องให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้ ทั้งหมด…เป็นเพียงเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจบางส่วน ที่เห็นว่าการเมืองไทยเวลานี้ กำลังเป็นตัวบ่อนทำลายเศรษฐกิจไทยให้พังพาบในอีกไม่นานนี้!. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : “เลือกตั้ง”ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายนักธุรกิจเรียกร้องการเมืองยุติ

Posts related