วันนี้( 5 กย.57 ) ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มีการจัดแถลงข่าวนักวิทยาศาสตร์ไทยได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นระดับอาเซียน   โดย นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ     รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  เปิดเผยว่า  ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งอาเซียนครั้งที่ 9  ที่จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย  เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา มี 2 นักวิจัยไทยได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นระดับอาเซียน โดย ดร.ณัฏฐพร  พิมพะ นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ(นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)พร้อมคณะนักวิจัยห้องปฏิบัติการโครงสร้างนาโนไฮบริดและนาโนคอมพอสิทได้รับรางวัล ASEAN-US Science Prize for Women ประจำปี 2557 จากผลงานวิจัยเทคโนโลยีไส้กรองนาโนจากเซรามิคเคลือบเงินสำหรับเครื่องผลิตน้ำดื่มสะอาดแก่ชุมชนในช่วงอุทกภัย  ทั้งนี้รางวัลดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดขึ้นร่วมกันระหว่างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับนักวิจัยสตรีดีเด่นของภูมิภาคอาเซียน และในปีนี้มอบให้นักวิทยาศาสตร์สตรีของภูมิภาคอาเซียนซึ่งทำงานวิจัยหลักเกี่ยวกับคุณภาพน้ำเป็นการสนับสนุนความพยายามของอาเซียนที่จะพัฒนาสมรรถภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภูมิภาคเพื่อการจัดการน้ำซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทั้งภูมิภาค ส่วน ดร. ธีรยุทธ   ตู้จินดา นักวิจัยอาวุโสศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.และรองผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว  ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยร่วมระหว่างไบโอเทคและมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์  ได้รับรางวัล The ASEAN  Meritorious Service Award (AMSA) ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างคุณประโยชน์แก่ภูมิภาคอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร. ธีรยุทธ   กล่าวว่า  ได้รับรางวัลนี้ เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคอาเซียนโดยช่วยทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ให้มีความสามารถในการใช้ดีเอ็นเอเทคโนโลยีในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของแต่ละประเทศให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวย และต้านทานต่อ โรคและแมลงที่สำคัญ  ซึ่งโครงการนี้ทำอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี  โดยร่วมกับกรมการข้าวและมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทย ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยใช้โมเลกุลเครื่องหมายช่วยในการคัดเลือก ร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบมาตรฐานเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะตามต้องการและลดระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ เช่นพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วม และ พันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ “ธัญสิริน” จากนั้นได้ขยายความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  ปัจจุบันมีการพัฒนาข้าวเมียนมาร์สายพันธุ์MK-75ที่มีคุณภาพเหมือนข้าวบาสมาติและต้านทานโรคขอบใบแห้ง  ข้าวกัมพูชาทนแล้งสายพันธุ์ CAR3 ที่มีคุณภาพหุงต้มดี   ข้าวเหนียวสปป. ลาว สายพันธุ์ TDK1 ที่มีคุณภาพหุงต้มดีและต้านทานต่อโรค  และ IR57514 ที่ทนน้ำท่วม ทนแล้ง และต้านทานโรคไหม้  ซึ่งมีการเผยแพร่และเริ่มปลูกกันอย่างกว้างขวางในแต่ละประเทศ      

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : 2นักวิจัยนาโน-ไบโอเทคคว้านักวิทย์ดีเด่นอาเซียน

Posts related