สวรรค์ล่มไปเรียบร้อยแล้ว กับเมกะโปรเจคท์ชื่อสวยหรู “สร้างอนาคตไทย 2020” ที่รัฐบาลต้องการปรับปรุงระบบขนส่งโครงสร้างพื้นฐานประเทศครั้งใหญ่ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ให้การออก พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านของรัฐบาลชุดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และ 170 เสียงสะท้อนหลังคำวินิจฉัยแบ่งเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งโล่งอกที่ประเทศชาติไม่ต้องเป็นหนี้ก้อนโตนับล้านล้านบาท แต่บางคนก็บ่นเสียดายโอกาสพัฒนาประเทศจนไม่สามารถแข่งกับชาติอื่นไปได้ อย่างไรก็ดีแม้โครงการ 2 ล้านล้านครั้งนี้จะปิดฉากไปแล้ว แต่เรื่องราวผลกระทบที่เกิดจากโครงการ 2 ล้านล้าน ยังไม่หมดเสียทีเดียว ยังมีอาฟเตอร์ช็อกสั่นสะเทือนกระเพื่อมต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างน่าวิตกกังวลอีกด้วย เริ่มตั้งแต่ผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 57 เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ค่อยสดใสนัก หลังเครื่องจักรที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกือบทุกตัวแทบหยุดทำงานไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงต้นปี ขณะที่การท่องเที่ยวก็เติบโตไม่ได้ตามหวัง หลังจากนักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางเข้ามา เพราะกลัวปัญหาม็อบการเมือง และการมี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ทำให้รายได้การท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่นหดหายไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท รวมถึงการบริโภค ประชาชนที่ห่อเหี่ยวอยู่แล้ว ก็ยิ่งขาดความเชื่อมั่นขึ้นไปอีก วัดจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่ำสุดรอบ 12 ปี ขณะที่เงินเฟ้อก็ทรงตัวระดับต่ำไม่ถึง 2% การลงทุนจากภาครัฐเป็นสิ่งเดียวที่เหลือจะเข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจในปีนี้เท่านั้น โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ประเมินว่า หาก พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท เดินหน้าได้จริง ในปี 57 จะเริ่มมีเม็ดเงินลงทุนอัดฉีดเข้ามาใน  ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ลงทุนว่าจ้างที่ปรึกษา รับเหมาก่อสร้าง และซ่อมแซมถนนหนทาง และหากคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์ เงินก้อนนี้จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบอีก 2   รอบ ทำให้เกิดการจ้างงาน การลงทุนใหม่ของภาคเอกชน การใช้จ่ายภาคประชาชน และทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์คึกคักตามมา ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มถึง 2.4     แสนล้านบาท ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความยืน ยันบนโซเชียลมีเดียว่า หากโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลง ทุนโครงการพื้นฐานระบบขนส่งเดินหน้าได้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จะช่วยผลักดันให้จีดีพีของประเทศในปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 3% และตลอดโครงการ 7 ปีข้างหน้า จีดีพีจะขยายตัวได้อีก 1% ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 5 แสนตำแหน่ง และลดต้นทุนโลจิสติกส์ ต่อจีดีพีได้ไม่น้อยกว่า 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ 15.2% แต่ความจริงวันนี้ เมื่อโครงการ 2 ล้านล้าน สะดุดเดินหน้าต่อไม่ได้แล้ว แถมยังไร้รัฐบาล  ตัวจริงคอยบริหาร เท่า กับว่าเศรษฐกิจไทยอาการน่าเป็นห่วง เพราะกำลังปราศจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตในทุกด้าน และตกอยู่ในสภาพถูกแช่แข็ง โดยหลายหน่วยงานมองว่าอย่างเก่งจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ  2-3% เท่านั้น ต่ำสุดในสมาชิกอาเซียน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า ตั้งแต่การปิดกรุงเทพฯที่ผ่านมา จน ถึงการไม่มีโครงการ 2 ล้านล้าน ได้ส่งผลต่อภาคธุรกิจตั้งแต่ระดับน้อยไปจนถึงมาก และถ้าเหตุการณ์ยืดเยื้อต่อไป ก็จะสร้างความเสียหายมากขึ้น ขณะนี้หลายธุรกิจได้รับความเสียหาย และต้องปรับแผนการดำเนินงานในปีนี้ใหม่ทั้งหมด แต่บางธุรกิจก็ไม่สามารถคาดการณ์วางแผนธุรกิจได้เลยเพราะกำลังซื้อภายในประเทศลดลงมาก โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐและเอกชนหายไปมาก ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ราคาที่ดินในต่างจังหวัดที่มีการเก็งกำไรเพื่อรอรถไฟฟ้าความเร็วสูงก่อนหน้านี้ อาจปรับลดลงมากกว่า 50% เพราะก่อนหน้านี้มีการปรับราคาที่ดินขึ้นไปกว่าเท่าตัว และจะมีผลให้คอนโดมิเนียมต่างจังหวัดเกิดภาวะล้นตลาดและขายได้ยากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อรองรับโครงการ 2 ล้านล้านบาท ต้องชะลอการลงทุนไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจน แต่ขณะเดียวกันถือว่าเป็นโอกาสของผู้ซื้อที่จะได้คอนโดมิเนียมและที่อยู่อาศัยในภูมิภาคที่ราคาถูกลง แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่ผลกระทบระยะสั้นต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 57 นี้เท่านั้น ผลกระทบระยะยาวต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ หากไม่พัฒนาระบบขนส่งเลย ความสามารถโลจิสติกส์ของไทยจะถดถอยกว่านี้แน่นอน ด้าน มิสเตอร์ 2 ล้านล้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม แม้จะออกมาคาดหวังว่า แม้โครงการ 2 ล้านล้าน จะตกไป แต่จะไปหาวิธีการอื่น ๆ ในการลงทุนแทน เช่น กลับไปพิจารณาว่าสามารถใช้ พ.ร.บ. หนี้สาธารณะในการกู้เงินได้หรือไม่ หรืออาจใช้วิธีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำเงินมาใช้ในการลงทุน โดยอาจแยกส่วนโครงการที่สามารถเริ่มทำได้ทันที และคนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ การพัฒนาท่าเรือ ปรับปรุงถนน 4 ช่องทางจราจรทั่วประเทศ ซึ่งใช้งบแค่ 1.1 ล้านล้านบาท ส่วนโครงการอื่น ๆ ที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เช่น รถไฟความเร็วสูงมูลค่า 700,000 ล้านบาทนั้น อาจต้องชะลอการลงทุนไปก่อน แต่อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงในเชิงปฏิบัติคงทำได้ยาก เพราะการเกิดสุญญาการเมืองไทยในขณะนี้ และเป็นรัฐบาลรักษาการจะผลักดันหรือคิดหาเงินลงทุนโครงการขนาดใหญ่เป็นหลักแสนล้านแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะในท้ายที่สุด ก็ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไรเข้ามาตัดสินพิจารณากันอีกที มองดูแล้ว เท่ากับว่า ยิ่งสถานการณ์การเมืองยังยืดเยื้อต่อไปเท่าไร แถมยังไม่มีโครงการ 2 ล้านล้านอีก น่าจะทำให้เศรษฐกิจปีม้า เดินหน้าไปแบบหืดขึ้นคอแน่นอน. ทีมข่าวเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : 2ล้านล้านล่ม-ลงทุนวืดแช่แข็งเศรษฐกิจปีม้า

Posts related