เพราะวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีเป็นของคู่กัน…      หากมีแค่การพัฒนาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ขาดการต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์  ซึ่งเป็นศาสตร์ของเทคโนโลยีแล้ว ประเทศคงไม่สามารถพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันไทยยังอยู่ในสภาวะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก  มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์  ได้จัดให้มีการมอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ขึ้น ตั้งแต่ปี 2545 สำหรับปีนี้ ได้มีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามากว่า 50 ผลงาน และคณะกรรมการได้ตัดสินให้ผลงานที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2556 มีจำนวน 2 ทีม โดยทีมแรกคือ นายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ หุ้นส่วนผู้จัดการ  และนายวิฑูร ลี้ธีระนานนท์  วิศวกรออกแบบและควบคุมการผลิต ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถเกษตรยนต์   ผู้ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีรถตัดอ้อยที่มีกระบะบรรจุท่อนอ้อยทำงานแบบอัตโนมัติ ครั้งแรกในโลก  นายสามารถ บอกว่า รถตัดอ้อยนี้พัฒนาจากความต้องการของเกษตรกรที่ประสบปัญหารถตัดอ้อยที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงมาก และขาดแคลนแรงงานเพราะแรงงานส่วนใหญ่จะเลือกตัดอ้อยไฟไหม้ ที่ตัดได้สะดวกรวดเร็วแต่ทำให้อ้อยสูญเสียน้ำหนักและความหวาน จึงคิดผลิตรถตัดอ้อยขึ้นเอง ตั้งแต่ปี 2541 เวอร์ชั่นแรกไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมีขนาดเล็กเกินไป จึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงรุ่นล่าสุด ที่ปรับปรุงประสิทธิภาพให้สามารถใช้งานง่าย มีกลไกไม่ซับซ้อน ล้อรถบรรทุกไม่กดทับอัดแน่นชั่นดินและตออ้อย สามารถตัดอ้อยได้ถึงวันละ 100 ตัน ขณะที่หากใช้แรงงานคนจะตัดได้แค่ 1ตันต่อวันเท่านั้น ที่สำคัญ ผู้ผลิตรถตัดอ้อยแบรนด์ไทยบอกว่า ราคารถตัดอ้อยคนไทยถูกว่ารถนำเข้าอย่างมาก ทั้งที่ประสิทธิภาพเทียบเท่ากัน ปัจจุบันได้ผลิตออกจำหน่ายในไทยและต่างประเทศแล้ว ส่วนนักเทคโนโลยีดีเด่นทีมที่สอง คือ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการสถาบันจีโนมแห่งชาติ และคณะ จากห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)  ซึ่งประสบความสำเร็จในการวิจัยพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจีโนมในควบคุมคุณภาพสินค้าในการส่งออกอาหารและการปรับปรุงพันธุ์พืชอายุยืนแบบก้าวกระโดด                ดร.สมวงษ์  บอกว่า จีโนมิกส์เป็นส่วนหนึ่งของสาขาพันธุศาสตร์ ที่ศึกษาพันธุกรรมทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด โดยเน้นการศึกษาหาลำดับเบสทั้งหมดของดีเอ็นเอ และการทำแผนที่ทางพันธุกรรม ซึ่งการรวบรวมจีโนมของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ จะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูล ทำให้ทราบลักษณะเฉพาะ ของจีโนมในสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ และใช้ในการวิเคราะห์หายีนที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมที่สำคัญ ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยีฐานจีโนมมิกส์สามารถช่วยประเทศได้ทั้งด้านการส่งออก กฎหมายและการป้องกันการกีดกันทางการค้า  เช่น ช่วยให้ไทยสามารถตรวจสอบการปลอมปนอาหาร และสิ่งมีชีวิตได้อย่างแม่นยำ  โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีตรวจสอบการปลอมปนข้าวสารได้ทุกสายพันธุ์  เทคโนโลยีการตรวจสอบการปนเปื้อนของพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ และเทคโนโลยีตรวจสอบการปนเปื้อนเนื้อวัวในอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารสัตว์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรควัวบ้าเข้ามาในประเทศไทย  นอกจากนี้ยังใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ได้อย่างรวดเร็ว เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีจีโนมของปาล์มน้ำมัน เพื่อให้มีผลผลิตมากกว่า 5 ตันต่อไร่ต่อปี และสามารถปลูกได้ดีในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ซึ่งร่นระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์จากปกติที่ใช้เวลา 15-20 ปีเหลือเพียง 5-8 ปี ปัจจุบันศูนย์ปฏิบัติการดีเอ็นเอเทค ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เรียกว่าช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรมไทย และยังมีโอกาสทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีนี้ในการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย. นาตยา คชินทร
nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : 2 นักเทคโนโลยีดีเด่น 2556

Posts related