ถือเป็นเวทีการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมและแอพพลิเคชั่นระดับโลกสำหรับเยาวชน คนรุ่นใหม่ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 12 แล้ว กับการแข่งขัน ไมโครซอฟท์ อิเมจิ้น คัพ 2014Ž (Microsoft Imagine Cup 2014) ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมามีเยาวชนกว่า 1.65 ล้านคน จาก 190 ประเทศเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ส่งเยาวชนที่ชนะเลิศในการแข่งขันระดับประเทศ เป็นตัวแทนเข้าแข่งขันในรอบชิงแชมป์โลก และก็สามารถคว้ารางวัลกลับมาสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมาแล้ว สำหรับในปีนี้รอบคัดเลือกระดับประเทศของไทยได้ธนาคารกสิกรไทย และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID)  ร่วมสนับสนุนการแข่งขัน และมีทีมนิสิต นักศึกษา เข้าร่วมแข่งขันถึง 100 ทีม โดยการแข่งขันกำหนดให้ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันต้องสร้างแอพพลิเคชั่นเต็มรูปแบบโดยอิงกับเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์เป็นหลัก ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ เวิลด์ ซิติ เซนชิป (World Citizenship) เกม (Games) และ อินโนเวชั่น (Innovation) นายฮาเรซ คูบจันดานิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้ มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนไทย พัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมให้เยาวชนไทยเติบโตพร้อมกับทักษะและความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในยุคศตวรรษที่ 21 เพื่อการพัฒนาของประเทศและยกระดับประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในผู้นำด้านไอทีในภูมิภาคอาเซียนด้วย โดยผลการแข่งขันในประเภท เวิลด์ ซิติเซนชิป รางวัลชนะเลิศ คือ แอพพลิเคชั่น We Heart ของทีม We Heart จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายศุภวิชญ์ เกตุอุดม นาย เฉลิมพงษ์ สมานสินธุ์ นายสริภพ เจริญชัยปิยกุล และ น.ส.อภิสรา ศรีพันธ์ น้อง ๆ ทีม We Heart ร่วมกันกล่าวว่า We Heart เป็นแอพพลิเคชั่นสังคมออนไลน์สำหรับผู้ป่วยที่ มีเชื้อเอชไอวี(HIV) เป็นการสร้างสังคมและการเข้าใจพร้อมกำลังใจให้ผู้ป่วยด้วยการส่งความรักและห่วงใย เป็นแพลตฟอร์มรองรับการทำกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อผู้ป่วย โดยเฉพาะ ปัจจุบันยังมีคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ป่วยเอชไอวี ว่าเป็นโรคที่น่ากลัว แต่ที่จริงแล้วผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองรับยาอย่างสม่ำเสมอก็สามารถใช้ ชีวิตร่วมกับคนปกติได้ จึงมีแนวคิดปรับเปลี่ยนทัศนคติในทางลบให้กลับมาเป็นบวก ผลงานของทีมมีสองแพลตฟอร์ม เริ่มจากเว็บไซต์ www.weheartcampaign.com แล้วได้ต่อยอดมาเป็นแอพพลิเคชั่น ที่มีข้อมูลต่าง ๆ อาทิ เรื่องการวัด CD4 การปฏิบัติตน มีฟีเจอร์เตือนให้ผู้ป่วยรับประทานยาให้ตรงเวลา ฯลฯ รวมถึงมีคอมมูนิตี้เพื่อให้สามารถทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน สำหรับผลงานนี้ใช้เวลาพัฒนา 6-7 เดือน ต่อจากนี้ต้องเตรียมพัฒนาแอพให้เป็นรูปธรรมเพื่อที่จะได้ไปนำเสนอหากได้รับเลือกให้ไปแข่งรอบชิงแชมป์โลกŽ อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจเป็นผู้ชนะเลิศในประเภทเกม คือ แอพพลิเคชั่น Green Era ของทีม Green Era สมาชิกประกอบด้วย นายฉัตรปรินทร์ หงส์ศิริธรรม นายจาตุรงค์ ทองคำ นายสรวิศ แต้เกษม และ นายณัฐชนันท์ ลุมพิกานนท์ ทั้งหมดเป็นนักศึกษา สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหา วิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  นายฉัตรปรินทร์ กล่าวว่า แอพพลิเคชั่น Green Era เป็นเกมที่ให้ผู้เล่นปลูกต้นไม้ ซึ่งต้นไม้ที่ปลูกสำเร็จในเกม จะได้รับการปลูกจริง ๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่าง ๆของไทย พร้อมทั้งสามารถติดตามว่าต้นไม้ที่ปลูกเจริญเติบโตไปถึงไหน ช่วยมลพิษทางอากาศลดลงได้แค่ไหน แอพพลิเคชั่นเกม Green Era ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 6 เดือน รองรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โฟน ตั้งเป้าหมายจะมีคนดาวน์โหลดมากกว่า 1 แสนครั้งหลังการเปิดตัว ส่วนการหารายได้เป็นแบบ In App Purchases หรือเปิดให้ซื้อระบบต่าง ๆ เพิ่มเติมในแอพ รวมถึงติดต่อองค์กรต่าง ๆ ที่อยากทำโครงการซีเอสอาร์ ก็สามารถทำได้ เล่นเกมสนุกยังได้ช่วยปลูกป่ารักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้คุยกับหลายองค์กรที่สนใจไว้แล้ว รวมถึงโนเกียที่จะช่วยผลักดันแอพนี้ให้ติดอันดับในวินโดวส์ สโตร์ ด้วยŽ สุดท้ายเป็นผลงานชนะเลิศในประเภท อินโนเวชั่น กับแอพพลิเคชั่น ASK DOM ของทีม Viden จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ที่รวบรวมความคิดเห็นทางโซเชียล เน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และโฟร์สแควร์ ที่มีต่อสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ น.ส.นารีรัตน์ แซ่เตียว ตัวแทนทีม  Viden กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีการใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก ติดอันดับโลก จึงมีแนวคิดที่จะรวมความเห็นของผู้ใช้ที่ได้มีการโพสต์ถึงสถานที่ต่าง ๆ แล้วนำมาประมวลว่ามีความเห็นดีไม่ดีอย่างไร เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการปรับปรุงให้ดีขึ้น แอพพลิเคชั่นนี้รองรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ อนาคตมีแผนจะพัฒนาให้รองรับระบบปฏิบัติการอื่น ๆ ด้วย ความยากอยู่ที่เรื่องวิเคราะห์ภาษาไทย พวกไวยากรณ์ต่าง ๆ แอพนี้ยังสามารถนำไปใช้รวบรวมความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมาทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็สนใจนำแอพนี้ไปใช้เพื่อดูความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับนโยบายหรือเครื่องมือทางการเงินที่ได้นำมาใช้ ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นหนึ่งในโมเดลการหารายได้ของแอพพลิเคชั่นนี้Ž น.ส.นารีรัตน์ กล่าว ด้าน น.ส.ศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การตัดสินในปีนี้ทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะพิจารณาจากความน่าสนใจของโซลูชั่น และมีโอกาสที่จะพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จริงได้ รวมถึงแต่ละทีมต้องนำเสนอผลงานของตัวเองต่อคณะกรรมการให้น่าสนใจ พร้อมแผนการตลาดและการลงทุน ต่อจากนี้ทั้ง 3 ทีมที่ชนะเลิศจะต้องทำวิดีโอนำเสนอผลงานให้เสร็จทัน 30 เม.ย. เพื่อส่งไปให้ทางคณะกรรมการ พิจารณาคัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบระดับโลก ซึ่งจะประกาศผลในช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนรอบชิงแชมป์โลกที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อดูจากผลงานทั้งสามทีมก็มีโอกาสที่จะได้รับเลือกไปแข่งขันในรอบสุดท้ายทั้งหมด ถือเป็น 3 ทีมที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดในปีนี้ และคงต้องติดตามต่อไปว่าเยาวชนทั้ง 3 ทีมจะผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายไปโชว์ผลงานที่เมืองซีแอตเทิล และสามารถคว้ารางวัลกลับมาได้ หรือไม่?. จิราวัฒน์ จารุพันธ์ JirawatJ@dailynews.co.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : 3 ทีมเยาวชนชนะเลิศ ‘อิเมจิ้น คัพ 2014’ – ฉลาดสุดๆ

Posts related