นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะแก้กฎหมายโครงสร้างภาษีใหม่ เพื่อเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายการคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 60,000 บาท เป็น 120,000 บาท โดยวงเงิน 60,000 บาทแรกเป็นการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมารวมปกติ แต่ส่วนที่เหลือ 60,000 บาทนั้นต้องมีใบกำกับภาษีมาแสดง ถึงจะหักค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดว่า ค่าใช้จ่ายที่จะนำมาหักภาษีเพิ่มขึ้นนั้น เป็นส่วนใดบ้าง เบื้องต้นเห็นว่าควรเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว และคาดว่าแนวทางนี้จะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเรียกใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและโอท็อปมากขึ้น โดยจะเร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เสร็จทันการยื่นแบบเสียภาษีปี 57 หรือเดือนมี.ค.58 “การจูงใจให้ประชาชนขอใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากผู้ประกอบการเป็นมาตรการหนึ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในระบบภาษีเพิ่มขึ้น และแก้ปัญหาใบกำกับภาษีปลอม แม้ว่าจะทำให้กรมฯ สูญเสียรายได้จากจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่อาจได้ภาษีส่วนอื่นเพิ่มขึ้น เช่น แวต ซึ่งถือว่าคุ้มค่า นอกจากนี้กรมฯ จะเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการด้วยว่า การเข้ามาอยู่ในระบบภาษีแวต ไม่จำเป็นต้องมีรายได้เกินปีละ 1.8 ล้านบาท ถึงจะเข้าระบบได้ แต่สามารถเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทันทีแม้รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด” สำหรับการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรปี 57 นั้น ได้ให้นโยบายกับสรรพากรเขตและพื้นทั่วประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการชุมประท้วงรัฐบาล ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจต่อเนื่อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร รถท่องเที่ยว ซึ่งอาจทำให้การจัดเก็บภาษีลดลง โดยได้มอบหมายให้สำนักแผนภาษีประเมินว่า หากชุมนุมยืดเยื้อจะส่งผลกระทบการเก็บภาษีมากน้อยแค่ไหน และให้สรรพากรพื้นที่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเตรียมแผนจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ ส่วนการเก็บภาษีของกรมฯ เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 57 จัดเก็บภาษีได้ 112,000 ล้านบาท เกินเป้าหมาย 7,000 ล้านบาท หรือ 7% คาดว่าทั้งปีคาดว่าจะจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย 1.9 ล้านล้านบาท ด้านนางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง กล่าวว่า การหักลดหย่อนแบบเหมาจ่ายวงเงินไม่เกิน 60,000 บาทต่อปีนั้น มีการใช้มานานแล้ว และปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้น จึงต้องปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน เพื่อลดภาระให้กับประชาชนผู้เสียภาษีอากร ซึ่งเห็นว่าควรนำใบกำกับภาษีมาใช้ในการคำนวณการหักค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล โดยเฉพาะใบกำกับภาษีที่มาจากธุรกิจเอสเอ็มอี และรายย่อยเป็นหลัก แต่ไม่ใช่โมเดิร์นเทรด เพราะปัจจุบันเสียภาษีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนกับสรรพากร ซึ่งจะช่วยทำให้ตรวจสอบรายละเอียดของผู้ประกอบการว่าเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ นายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มปลอม กล่าวว่า จากการตรวจสอบ45 บริษัทที่เกี่ยวข้องการทุจริตพบว่า 20 บริษัทมีการส่งเศษเหล็กไปขายต่างประเทศและขอคืนภาษี โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรเข้าข่ายเกี่ยวข้องการคืนภาษีไม่ถูกต้อง 2 คน และผู้บริหารบริษัทที่ส่งออกเศษเหล็กเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มคนที่คณะกรรมการฯประกาศผลสอบทุจริตโกงแวตไปก่อนหน้านี้ 20 บริษัท มูลค่าความเสียหายกว่า 4,341 ล้านบาทและมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบตั้งแต่ระดับซี9 ลงมา 18 คน จึงได้ส่งเรื่องให้ปลัดกระทรวงการคลังพิจารณา เพื่อตั้งกรรมการสอบวินัยข้าราชการต่อไป สำหรับอีก 25 บริษัท ที่เหลือจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า เป็นผู้ประกอบการส่งเครื่องคอมพิวเตอร์ไปขายประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบข้อเท็จจริงว่าการยื่นขอภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้องหรือไม่ และดูว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าเท่าไหร่ “เดือน เม.ย. 55 ได้ตรวจสอบพบ 2 บริษัท ใน 40 บริษัท แจ้งส่งออกเป็นเศษเหล็ก แต่ตรวจพบว่าเป็นก้อนหินถึง 6 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งกรมศุลกากรได้แจ้งให้กรมสรรพากรตรวจสอบการคืนภาษี แต่กรมฯ ผู้ประกอบการได้ไปฟ้องศาลอ้างว่าบริษัทที่บรรจุเศษเหล็กยักยอกสินค้า และใช้เป็นหลักฐานอ้างกับกรมสรรพากรจนได้รับการคืนแวตอีก 30 ล้านบาท”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : คลังเล็งลดหย่อนภาษีจาก6หมื่นเป็น1.2แสนบาท

Posts related