นโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการขุดรากถอนโคนบรรดาขั้วอำนาจการเมือง ในคณะกรรมการของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 58 แห่ง ได้สร้างความฮือฮาและกลายเป็นที่จับตามองของสังคมไม่ใช่น้อยทีเดียว  เพราะการขุดรากถอนโคนครั้งนี้…จะเป็นการเดินหน้าตรวจสอบกันถึงประวัติของคณะกรรมการ รวมถึงที่ไปที่มาถึงการครอบครองเก้าอี้ เรื่องนี้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า บรรดาคณะกรรมการในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ต่างถูกฝากฝังมาโดยนักการเมือง โดยเฉพาะในรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ที่ทำเงินทำรายได้จำนวนมาก ก็ยิ่งกลายเป็นแหล่งที่หลายฝ่ายต้องการ เพราะสมบูรณ์ไปด้วยผลประโยชน์ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก! เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล บรรดากรรมการของรัฐวิสาหกิจที่มาจากการเมืองก็มีอันต้องหลุดจากเก้าอี้ไปด้วยเช่นกัน โดยเป้าหมายใหญ่ถูก “ล็อก” ไปที่รัฐวิสาหกิจด้านเศรษฐกิจเป็นหลักที่ คสช. ต้องการแก้ปมปัญหาเพื่อให้รัฐวิสาหกิจ เป็นแขนขาให้การพลิกฟื้นเศรษฐกิจเดินหน้าได้โดยไม่ติดขัด โดยเฉพาะการเดินเครื่องลงทุนในโครงการเมกะโปรเจคท์ รวมถึงการเข้าไปดูความเป็นอยู่ของประชาชน ผ่านรัฐวิสาหกิจที่ดูแลสาธารณูปโภคพื้นฐาน และแหล่งงบประมาณที่สำคัญของประเทศ เปลี่ยนมือกุมเมกะโปเจคท์  รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม จึงกลายเป็นหน่วยงานเต็งจ๋า ที่คาดกันว่าต้องถูกยกเครื่องก่อนเป็นลำดับแรก ๆ เพราะเกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และแต่ละหน่วยงานเกี่ยวข้องกับเงินลงทุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่ปัจจุบันนี้มี น.ต.ศิธา ทิวารี นั่งแป้นเป็นประธานบอร์ด ขณะที่มี “เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย” เป็นกรรมการผู้อำนวยการ ที่อดีตเป็นผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง “ไทยคม” มานั่งสั่งการคุมโปรเจคท์ยักษ์หลายแสนล้าน ทั้งการขยายสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่สอง สนามบินดอนเมืองระยะที่สาม รวมถึงโครงการแอร์พอร์ตซิตี้ เป็นต้น  ขณะที่สายการบินแห่งชาติอย่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่แม้ว่าจะเป็นบริษัทมหาชน ที่ผ่านมาความขัดแย้งระหว่างคณะกรรมการกับพนักงาน ก็มีอยู่สูงมาก  จึงปรากฏเป็นข่าวให้เห็นบ่อยครั้ง ที่สำคัญองค์กรแห่งนี้กำลังมีปัญหาขาดทุนจากการบริหารงาน เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบรางทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทยหรือ ร.ฟ.ม. เพราะในไม่ช้านี้ไทยต้องลงทุนพัฒนาระบบรางขนานใหญ่ ทั้งรถไฟรางคู่ 5 สาย รถไฟฟ้ากรุงเทพฯ 10 สาย รวมถึงรถไฟความเร็วสูง ใช้งบลงทุนสูงนับล้านล้านบาท การจะวางใจใช้ขั้วอำนาจเดิมคงเป็นไปไม่ได้! เหมือน ๆ กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ที่เวลานี้เรื่องราวของรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน ยังค้างเติ่ง  ตัดตอนประชานิยม  ไม่ใช่เพียงแค่หน่วยงานลงทุนเท่านั้น หน่วยงานด้านการเงินในสังกัดกระทรวงการคลัง ก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน โดยเฉพาะแขนขาสำคัญของรัฐบาลอย่าง ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.), เอส เอ็มอีแบงก์, ธนาคารกรุงไทย หรือแม้แต่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิด เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาเก้าอี้ประธานและบิ๊กบอสในหน่วยงานเหล่านี้ ต่างมีการวิ่งเต้นกันให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง และเมื่อเข้าไปดูในประวัติในรายละเอียดแล้วต่างล้วนหนีไม่พ้นเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น โดยเฉพาะผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีความเกี่ยวพันกับอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด จนล่าสุดต้องประกาศไขก๊อกลาออกจากตำแหน่งแล้ว ล้างบางเพื่อคนไทย  เฉกเช่นเดียวกันกับรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ  ปตท. ที่ถูกไล่ขย้ำมาตั้งแต่แรกจากการปล่อยข่าว ข่าวลือสารพัด ในช่วงก่อนหน้านี้ เพราะกำไรของ ปตท. แต่ละ ปีเป็นหลักแสนล้าน บาท ขณะที่ราคาน้ำมันที่ประชาชนต้องใช้ทุกวันก็แพงขึ้นทุกวันเช่นกัน ที่สำคัญสังคมต่างรับรู้กันดีว่าเก้าอี้บริหารของ ปตท. ไม่เคยสักครั้งที่จะปลอดจากการเมือง หรือแม้แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. แม้ไม่ใช่กรรมการที่หวือหวามากนัก แต่ประธานคนปัจจุบันก็หนีไม่พ้นติดพันกับการเมืองเช่นกัน หรือแม้แต่ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่อาจไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน่วยงานแห่งนี้ก็ถูกจับตามองจาก คสช. เพราะทีมที่ปรึกษาของ คสช. ได้ออกมาสะกิดปัญหาสำคัญทั้งเรื่องการเดินหน้าสางใบอนุญาตก่อตั้งโรงงานและการเดินหน้าโครงการส่งเสริมการลงทุนที่ยังค้างท่อ  เช็กบิลจำนำข้าว  หันไปที่กระทรวงพาณิชย์ แม้มีรัฐวิสาหกิจในสังกัดไม่มากนัก แต่วันนี้ องค์การคลังสินค้า (อคส.) กลายเป็นหน่วยงานที่ถูกจับตามองมากสุด เพราะมักมีลิ่วล้อทางการเมืองเข้าไปครอบครอง จนมีข่าวฉาวด้านการทุจริตแทบทุกยุคทุกสมัย ที่สำคัญ เวลานี้ ประธาน อคส. คนปัจจุบันยังเกี่ยวข้องกับขั้วอำนาจการเมืองเก่าแบบแนบแน่น ขณะที่เรื่องการโกงข้าวกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่จะถูกสางออกให้หมด จึงเชื่อได้ว่า อคส. จะเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ถูกเปลี่ยนแปลงเช่นกัน  แนวทางที่กำลังจะเกิดขึ้นกับบรรดาคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ต่อจากนี้ คือ… การปฏิบัติขุดรากถอนโคนขั้นที่สอง ของ คสช. หลังการเข้ายึดอำนาจรัฐบาลไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งการโยกย้ายต้องเกิดขึ้นแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะเร็วหรือช้าเพียงใด เพราะหากเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจทั่วไป คสช.สามารถทุบโต๊ะเปลี่ยนแปลงได้เลย แต่ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น ธนาคารกรุงไทย, ปตท., ทอท. หรือการบินไทย อาจต้องดำเนินการตามกฎของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ ตลท. ที่ต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อ ขอมติเปลี่ยนแปลงบอร์ดก่อน  อีกแนวทางที่ คสช.น่าจะนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่เคยเสนอให้ ครม. พิจารณามาตรการป้องกันการทุจริตของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งทบทวนบทบาทของหน่วยงานทั้งหมดในฐานะผู้คุมกฎ และผู้ปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดให้มีกลไกทางสังคมในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล  แม้ว่าความพยายามล้างบางคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ จะเป็นเรื่องที่สังคมต่างรอความหวังก็ตาม แต่เมื่อล้างบางแล้ว… คนมาใหม่… คงต้องพิสูจน์ฝีมือให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของ คสช.ไม่ใช่เพียงแค่ล้างบาง เพราะเป็นสมบัติผลัดกันชมเท่านั้น!. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : จับตารื้อบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ล้างการเมือง-ผลประโยชน์

Posts related