นายธนา พุฒรังษี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกวางจิ ณ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม หลังจากรัฐบาลเวียดนาม เห็นชอบ ให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้า ณ เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดกวางจิ โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดกำลังผลิต 2 คูณ 600 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า มีกำหนดแล้วเสร็จของหน่วยที่ 1 เดือนมิ.ย. 64 และหน่วยที่ 2 ประมาณเดือนธ.ค. 64 สำหรับแผนงานหลังจากนี้บริษัท กฟผ. อินเตอร์ฯ จะต้องจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายในเดือนธ.ค. 57 หากได้รับการอนุมัติโครงการแล้ว จะดำเนินการเจรจาร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สัญญาสัมปทาน และสัญญาค้ำประกันจากรัฐบาลเวียดนามต่อไป  รายงานข่าวจากศูนย์เตรียมความพร้อมด้านพลังงานไฟฟ้าเพื่อ 14 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า การผลิตและส่งไฟฟ้าของภาคใต้ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 57 ซึ่งเป็นวันที่ 9 ของการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เพื่อซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย (เจดีเอ – เอ 18) ระหว่างวันที่ 13 มิ.ย. -10 ก.ค. 57 เป็นปกติ สามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้อย่างเพียงพอ โดยการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ (พีก) ในวันดังกล่าว เท่ากับ 2,312.5 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 19.45 น. ซึ่งโรงไฟฟ้าทุกโรงสามารถเดินเครื่องได้โดยไม่มีเหตุขัดข้อง ทั้งนี้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีการใช้ไฟสูงขึ้นอีกในอนาคต กฟผ. จึงขอความร่วมมือประชาชน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมในภาคใต้ร่วมกันประหยัดไฟในช่วงเวลา 18.30-22.30 น. เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และตอบสนองการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้เพียงพอ นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ. เตรียมนำมาตรการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยผู้ผลิตไฟฟ้า (อีอีอาร์เอส) ให้ผู้ใช้ไฟฟ้า ลดการใช้ไฟ และไม่ลดผลผลิต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการและวิธีการดำเนินการที่เหมาะสมซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบการปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หรือการให้รางวัลเป็นแรงจูงใจ รวมถึงเงื่อนไขในการดำเนินการ เพื่อให้ได้มาตรการอีอีอาร์เอสที่เหมาะสมกับไทย   “ ปัจจุบัน มาตรการอีอีอาร์เอส ได้มีการนำมาใช้ทั้งในยุโรปและเอเชีย อาทิ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก จีน เกาหลีใต้ รวมถึง 48 รัฐในสหรัฐ ฯ โดยแต่ละแห่งมีการดำเนินงานหรือมาตรการจูงใจให้เกิดการลดการใช้พลังงาน ต่างกันไปตามความเหมาะสมของประเทศนั้นๆ อาทิ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ฯ ตั้งเป้าลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงปี 2012 – 2020 ลง 4,541 เมกะวัตต์ โดยใช้มาตรการทางการเงิน ติดตั้งอุปกรณ์ ปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์อาคาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนประเทศจีน กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้า ลดการผลิตไฟฟ้าลงให้ได้ 3% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยใช้มาตรการจูงใจผู้ประกอบการด้วยการสนับสนุนด้านการเงิน และมีการเปลี่ยนระบบแสงสว่าง ลดการสูญเสียความร้อนได้”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : กฟผ.ปักธงเวียดนามสร้างโรงไฟฟ้า

Posts related