สตีฟ จ็อบส์ เจ้าของตำนานแห่งแอปเปิล จัดเป็นหนึ่งในนักประดิษฐ์ที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลกในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นบุคคลที่ได้สร้างสิ่งประดิษฐ์ด้านฮาร์ดแวร์ที่สำคัญในปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 มากมาย อาทิ แมคอินทอช (Macintosh), ไอแมค (iMac), ไอพอด (iPod), ไอโฟน (iPhone), ไอแพด (iPad) และร้านขายเพลงออนไลน์ ไอทูนส์ (iTunes) แม้ว่าจะมีอุปกรณ์ “i” มากมายแล้วก็ตาม แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่สตีฟ จ็อบส์ วาดฝันว่าจะทำก็คือ iCar รถยนต์คันแรกในโลกที่มีแบรนด์แอปเปิลติดอยู่ โดยเขาเคยวางแผนว่า iCar จะสามารถช่วยพลิกฟื้นวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ช่วงเวลานั้นได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจของวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ให้กลับมาดีขึ้นได้อีกครั้ง ก่อนอื่นขอผมอธิบายสั้น ๆ นะครับว่ารถที่มีความเป็นอัจฉริยะนั้นเป็นอย่างไร จริง ๆ แล้วการติดความฉลาดให้รถนั้นทำได้หลายอย่างมากครับ เช่น ทำให้รถยนต์สามารถขับเคลื่อนได้เองอย่างอัตโนมัติ คิดได้เอง เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้เอง หรือแม้แต่การติดตั้งระบบอัจฉริยะป้องกันอุบัติเหตุอัตโนมัติ เป็นต้น แต่แน่นอนครับการนั่งจินตนาการนั้นไม่ยาก แต่การจะทำให้จินตนาการออกมาเป็นนวัตกรรมที่ดีและเป็นรูปธรรมนั้นไม่ง่ายครับ ต้องอาศัยองค์ความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์และทางคอมพิวเตอร์หลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไก, ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence), คอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision) หรือแม้แต่โครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Network) อย่างที่บอกไปครับ จินตนาการในการออกแบบอย่างเดียวนั้นไม่ยาก เพราะแนวคิดการติดความฉลาดเข้าไปในรถนั้นเคยมีคนเสนอมาแล้ว เขาเป็นนักศึกษาออกแบบยนตรกรรมของสถาบัน European Institute for Design ในประเทศอิตาลี โดยใช้ชื่อโครงการว่า iMove โดยเป็นความพยายามในการออกแบบรถให้เป็นรถแห่งอนาคต ใช้พลังงานไฟฟ้าและมีระบบช่วยการขับเคลื่อนด้วยการเพิ่มความฉลาดเข้าไป แม้ iMove จะเป็นเพียงผลงานการออกแบบ ไม่ได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จริงที่วิ่งบนท้องถนนได้ แต่ก็ถือเป็นการปลุกกระแสยนตรกรรมแนวคิดใหม่ขึ้นมาได้ดีทีเดียวครับ ซึ่งถ้าพูดถึงแนวคิดเรื่องรถของแอปเปิลนั้น แรกเริ่มเดิมทีก่อนหน้าแนวคิด iCar นี้ สตีฟ จ็อบส์ เคยพยายามจะร่วมมือกับค่ายรถต่าง ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมยานยนต์ร่วมกัน  ไม่ว่าจะเป็นการพยายามจับมือกับค่ายรถโฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ซึ่งขณะนั้นก็กำลังพยายามปรับโฉมรถไมโครบัสรุ่นแรกให้มีความทันสมัย คล่องตัว รวมไปถึงการพัฒนาฟังก์ชั่นใหม่ ๆ ที่อำนวยความสะดวกแก่คนขับ เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รวมถึงการใส่ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลอย่าง ไอแพดลงไปในรถด้วย ซึ่ง ณ เวลานั้นรถแนวคิดใหม่ที่เกิดจากการจับมือกันของสองค่ายยักษ์ใหญ่นี้ก็เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าสุดท้ายก็ไม่ได้มีการผลิตขึ้นจริงด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ต่อมาสตีฟ จ็อบส์ ก็พยายามแยกตัวออกมาพัฒนายานยนต์เป็นแบรนด์ของตัวเอง โดยตั้งใจจะใช้ชื่อว่า iCar แม้ว่าสตีฟ จ็อบส์ จะยังไม่ได้ลงมือออกแบบจริงจัง แต่มีรายงานกล่าวว่าเขาเชื่อว่า iCar ที่เขาคิดจะสร้างนั้นจะสามารถควบคุมส่วนแบ่งทางการตลาดในโลกยนตรกรรมได้มากกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว เรียกว่าเขามั่นใจมากครับว่า iCar จะได้รับความนิยมอย่างสูง แต่ก็เป็นเรื่องที่ทั้งน่าเสียใจและน่าเสียดายอีกครับ ที่ไอเดียนี้ยังไม่ทันจะทำได้สำเร็จ สตีฟ จ็อบส์ ก็ด่วนเสียชีวิตลงไปก่อน แต่เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์นะครับว่าสตีฟ จ็อบส์ เป็นบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างพลวัตอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยที่จะหยุดอยู่นิ่ง พวกเราก็คงต้องคอยดูกันครับว่าแอปเปิลจะทำให้ความฝันที่ค้างคาของสตีฟ จ็อบส์ เป็นจริงได้ไหม และถ้าได้จะได้เมื่อไหร่. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : iCar ความฝันของสตีฟ จ็อบส์ – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related