ผู้อ่านคงเคยเห็นกรอบสี่เหลี่ยมมีจุดดำ ๆ ตามป้ายโฆษณาเหมือนภาพประกอบบทความนี้ และสงสัยว่ามันคืออะไร  บทความวันนี้จะไขข้อข้องใจให้ทราบครับ กรอบสี่เหลี่ยมนี้เรียกว่า คิวอาร์  (QR) ซึ่งย่อมาจากคำว่า Quick Response เป็นระบบที่ทำงานคล้ายบาร์โค้ดที่เราเห็นในห้างสรรพสินค้า แต่เก็บข้อมูลได้มากกว่า และใช้งานได้สะดวกกว่า เพราะเราใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตที่ติดตั้งแอพเพื่ออ่านคิวอาร์ได้ ทำให้คิวอาร์แพร่หลายและนำไปใช้ในวงการ ต่าง ๆ  ผมจะแนะนำ3ขั้นตอนในการใช้ประโยชน์และเล่นสนุกกับคิวอาร์ดังนี้ครับ 1. การอ่านคิวอาร์ ขั้นตอนแรกคือ ติดตั้งแอพที่อ่านคิวอาร์บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตครับ ขณะนี้มีแอพฟรีที่อ่านคิวอาร์มากมาย ซึ่งผู้อ่านเลือกได้ตามใจชอบ แต่ผมขอแนะนำแอพฟรีชื่อ i-nigma ซึ่งหาได้จากเว็บไซต์ www.i-nigma.com  เพราะเป็นแอพที่ทำงานได้เร็ว และมีในทุกระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนครับ หลังจากที่ติดตั้งแอพอ่านคิวอาร์แล้ว ผู้อ่านลองทดสอบการทำงานของแอพด้วยการส่องคิวอาร์ของบทความนี้ว่า เห็นข้อความที่ซ่อนในคิวอาร์ของบทความนี้หรือไม่ครับ 2. การสร้างคิวอาร์  ถ้าผู้อ่านอยากสร้างคิวอาร์ของตนเองบ้าง ก็มีเว็บไซต์จำนวนมากที่ให้เราสร้างคิวอาร์ฟรี ผมขอแนะนำเว็บ  GOQR.ME ซึ่งเป็นเว็บที่ใช้งานง่าย ผู้อ่านเลือกประเภทของข้อมูลที่ต้องการสร้างคิวอาร์ เช่น เว็บไซต์ ข้อมูลส่วนตัว ข้อความ จากนั้นป้อนข้อมูลที่ต้องการ เว็บไซต์จะแสดงคิวอาร์ทางขวามือเพื่อให้เราดาวน์โหลดไปใช้งานครับ คิวอาร์ของบทความนี้สร้างจากเว็บไซต์ GOQR.MEเช่นกันครับ  3. การใช้งานคิวอาร์ ผู้อ่านนำคิวอาร์ไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น ใส่คิวอาร์ในนามบัตรตนเองเพื่อให้ผู้อื่นสแกนและเก็บข้อมูลในสมาร์ทโฟน  ผู้นำเสนอหรือครูใส่คิวอาร์ในสไลด์พาวเวอร์พอยต์ แล้วให้ผู้ฟังสแกนเพื่อเก็บข้อมูลที่ผู้นำเสนอต้องการให้ผู้ฟังทราบ เช่น เว็บไซต์ คลิปในยูทูบ หรือข้อความต่าง ๆ  สถานที่ท่องเที่ยวก็นำคิวอาร์ติดตั้งในจุดสำคัญเพื่อให้นักท่องเที่ยวสแกนคิวอาร์ เป็นต้น   ขอให้ผู้อ่านทดลองทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บทความนี้แนะนำ และนำคิวอาร์ไปประยุกต์ในสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วจะพบว่าคิวอาร์สนุกและมีประโยชน์มากมายครับ. ธงชัย โรจน์กังสดาล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Thongchai.R@chula.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : QR พาเพลิน – 1001

Posts related