ยกเครื่องเทคโนโลยี…สมกับเป็นภาครัฐยุคใหม่ ที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและพร้อมที่จะให้บริการประชาชนอย่างดีที่สุด นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์ได้เริ่มนำเอาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยมีการจัดเก็บฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นข้อมูลดิจิตอลอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้บูรณาการข้อมูลมาใช้อย่างเป็นระบบ กรมธนารักษ์ จึงจัดทำโครงการระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการให้บริการกรมธนารักษ์ หรือ SMART GIS TD : SMART APP FOR SMART SERVICE ขึ้น เพื่อใช้ในการสำรวจ วางแผนบริหารจัดการที่ราชพัสดุและการประเมินราคาทรัพย์สินแบบบูรณาการครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยี LBIS (Location Based Information System) เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการข้อมูลบนระบบแผนที่ออนไลน์ เพื่อช่วยสนับสนุนการวางแผนกลยุทธ์และการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนำไปสู่การให้บริการประชาชน นายสุรช ล่ำซำ กรรมการรองกรรมการผู้จัด การใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า ล็อกซเล่ย์ ได้เข้าพัฒนาระบบดังกล่าวให้กับกรมธนารักษ์ เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือจีไอเอส เพื่อใช้ในการสำรวจ วางแผนบริหารจัดการที่ราชพัสดุ และต่อยอดระบบมาใช้งานด้านการประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็นการยกระดับงานด้านการสำรวจของกรมธนารักษ์ให้ก้าวมาสู่ระบบดิจิตอลแบบ 100% ด้านนายวุฒิกร มโนมัยวิบูลย์ ผู้บริหารอีคาร์ทสตูดิโอ ในกลุ่มล็อกซ เล่ย์ บอกว่า ที่ผ่านมาแม้กรมธนารักษ์จะมีการใช้ระบบจีไอเอส แต่เป็นการใช้งานเฉพาะในสำนักงาน ยังไม่ได้บูรณาการข้อมูลมาใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในส่วนของสำรวจหน้างาน ที่ยังคงใช้กระดาษในการบันทึก ซึ่งเสียเวลาในการนำข้อมูลมาลงคอมพิวเตอร์อีกครั้ง และมีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย ระบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นนี้ เจ้าหน้าที่จะเปลี่ยนมาใช้การบันทึกผ่านแอพพลิเคชั่นบนไอแพดแทน สามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลในสำนักงานได้ รวมถึงสามารถส่งข้อมูลได้ใหม่ได้แบบเรียลไทม์ มีความถูกต้องแม่นยำ เพราะระบุด้วยพิกัดจีพีเอสบนแผนที่  สามารถถ่ายภาพเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความถูกต้อง ระบบนี้ช่วยให้การทำงานด้านการประเมินราคาทรัพย์สินทำได้เร็วขึ้นกว่า 10 เท่า ปัจจุบันมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจของกรมธนารักษ์และบริษัทเอกชนที่รับงานจากกรมธนารักษ์ ทดสอบใช้งานระบบดังกล่าวแล้วกว่า 1,000 ราย สำหรับการใช้งานด้านบริหารที่ราชพัสดุ นายวุฒิกร บอกว่า ระบบนี้จะช่วยให้กรมธนารักษ์สามารถอัพเดทข้อมูลการใช้ประโยชน์บนพื้นที่ราชพัสดุได้ว่ามีสิ่งปลูกสร้างใดบ้าง หรือมีใครเข้าไปทำประโยชน์บนที่ราชพัสดุอย่างไร สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ของที่ราชพัสดุให้คุ้มค่าและเหมาะสม และจัดให้ใช้ประโยชน์และทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ราชพัสดุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ระบบยังมีส่วนที่ให้บริการออนไลน์แก่หน่วยงาน อื่น ๆ ได้ เช่น ระบบจีไอเอสเพื่อการเผยแพร่ข้อมูลที่ราชพัสดุ สืบค้นข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์ ระบบบริการผู้เช่าและผู้ใช้ที่ราชพัสดุ และ ระบบเผยแพร่ราคาประเมินอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการให้บริการสืบค้นข้อมูลเชิงพื้นที่และราคาประเมิน ระบบสามารถแสดงภาพถ่ายพื้นที่พร้อมแสดงราคาประเมินรอบบัญชีย้อนหลังเปรียบเทียบกับปัจจุบัน และแสดงค่าร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาได้ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้ปัจจุบันกรมธนารักษ์ นอกจากจะสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังสามารถนำข้อมูลจีไอเอส ไปสู่การให้บริการภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงประชาชนได้อีกด้วย. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : กรมธนารักษ์ยกระดับบริการ บริหารข้อมูลบนแผนที่ออนไลน์

Posts related