รายงานข่าวจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในปีนี้จะขยายตัวประมาณ 3 -5%  เพราะราคาสินค้าบางชนิดที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการเร่งทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าปลีกอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะภายหลังจากการชุมนุมทางการเมืองในบางพื้นที่ได้ยุติลง น่าจะช่วยประคองให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกยังคงขยายตัวได้  ส่วนกลยุทธ์ที่กระตุ้นลูกค้าที่ใช้รูปแบบเดิม เช่น  ผ่านทางจุดขายที่เป็นช่องทางหลัก ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาสินค้า การผ่อนชำระ 0% นานขึ้น การออกแคมเปญแลกรับส่วนลดที่สูงขึ้นจากคะแนนสะสมในบัตรสมาชิกอาจไม่เพียงพอประคับประคองยอดขายได้ ดังนั้นจะเห็นว่าผู้ประกอบการจะหาช่องทางในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด (มัลติ- ชาแนล มาร์เก็ตติ้ง) ที่หลากหลายมากขึ้นทั้งนี้ต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น  การขยายช่องทางการตลาดผ่านออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศยังคงไม่เป็นปกติ ซึ่งกดดันบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค รวมถึงความปลอดภัยในการเดินทาง ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางด้านไอที และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ยังคงนิยมใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากขึ้น จะทำให้การซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกว่า “เอ็ม-คอมเมิร์ซ” จะเป็นช่องทางใหม่ที่มาแรง และเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยหนุนการเติบโตของการซื้อขายออนไลน์ นอกจากนี้ผู้ประกอบการอาจจัดงานอีเว้นท์กระตุ้นยอดขาย เช่น  ลดราคาสินค้า หรือมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้บริโภคนอก ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยผู้ประกอบการอาจจะต้องทำการเลือกพื้นที่และเวลาที่เหมาะสมในการทำตลาด และเห็นว่า “มหกรรมลดราคาสินค้า” เป็นโปรโมชั่นที่สำคัญและช่วยดึงดูดผู้บริโภคในยามที่เผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งทำอีเว้นท์กระตุ้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการหรือร้านค้าที่เช่าพื้นที่ภายในร้านค้าปลีกให้มาเปิดบริการในพื้นที่ขอตนมากขึ้น  ตลอดจนมองหาโอกาสในการขยายการลงทุนในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน“กำลังซื้อของผู้บริโภค ที่ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด และยังไม่มีปัจจัยหนุนใดที่จะมาช่วยเพิ่มรายได้หรือกำลังซื้อให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ส่วนใหญ่ในปีนี้ ยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือมีทิศทางปรับลดลง ซึ่งยังคงกดดันรายได้ของเกษตรกร รวมถึงความคาดหวังจากแรงกระตุ้นของทางภาครัฐก็อาจจะไม่ได้ส่งผลบวกต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยถ้ามีมาตรการจากภาครัฐหลังความขัดแย้งทางการเมืองได้ข้อยุติ ก็น่าจะเน้นไปเพื่อการบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภคเป็นหลักมากกว่า” 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ค้าปลีกปรับช่องทางขายดันยอดขาย

Posts related