นายณัฐจพนธ์  ภูมิเวียงศรี    ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ   การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.)  เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ว่า   ขณะนี้อ่างเก็บน้ำกฟผ. หลายแห่งยังมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติและเพียงพอที่จะระบายได้ตามแผนการจัดสรรน้ำตลอดฤดูแล้ง มีเพียงอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือคือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องจากการระบายน้ำมากกว่าแผน อันเนื่องมาจากมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเพิ่มมากกว่าแผนที่กำหนดไว้มาก   โดยเขื่อนภูมิพล ปัจจุบัน  ( 12 มี.ค. 57)  มีปริมาตรน้ำ 5,949 ล้าน ลบ.ม.  คิดเป็น44% ของความจุ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 2,149 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 56 ณ เวลาเดียวกัน 115 ล้าน ลบ.ม.   ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ ปัจจุบัน มีปริมาตรน้ำ 4,657 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 49% ของความจุ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,807 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 56  ณ เวลาเดียวกัน 428 ล้าน ลบ.ม.    ทั้งนี้ทั้งสองเขื่อนใหญ่  มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 3,956 ล้าน ลบ.ม.   มากกว่าปี 56 ณ เวลาเดียวกัน   313 ล้าน ลบ.ม.  แต่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่เคยเก็บกักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถึง 2,600 ล้าน ลบ.ม.  จึงนับได้ว่ามีปริมาณน้ำใช้การได้อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก   สำหรับแผนการระบายน้ำของ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์  เบื้องต้นเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 56 – 30 เม.ย. 57 จำนวน 3,000 ล้าน ลบ.ม. โดยตั้งแต่เริ่มการระบายน้ำช่วงฤดูแล้งถึงวันที่ 12 มี.ค. 57 มีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ไปแล้วรวม 3,598 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าแผนเบื้องต้นตลอดช่วงฤดูแล้งประมาณ 600 ล้าน ลบ.ม.   และยังต้องระบายน้ำต่อไปอีกจนสิ้นสุดฤดูแล้งในเดือน เม.ย. อีก  1,100 ล้าน ลบ.ม.  เพื่อบรรเทาปัญหาการเพาะปลูกเกินแผนและปัญหาความเค็มที่รุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา “ คาดว่าเมื่อสิ้นสุดการระบายน้ำช่วงฤดูแล้งในเดือนเม.ย. จะเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,800 ล้าน ลบ.ม.ต่ำกว่าเป้าหมายที่จะต้องสำรองไว้ใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภคและผลักดันน้ำเค็มในช่วงเดือน พ.ค. – มิ.ย. ที่มักจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง”  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำน้อย

Posts related