ระบบป้องกันความปลอดภัยบนเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) นั้นเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ทั่วโลกให้ความมั่นใจอยู่ในระดับหนึ่งว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยป้องกันข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ได้ มีทั้งระบบการยืนยันผู้ใช้ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ ตลอดจนการใช้รหัสผ่านเพื่อยืนยันสิทธิการเข้าใช้งาน แต่คุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมจะมั่นใจได้อย่างไรครับว่าข้อมูลของพวกเรานั้นจะปลอดภัยจริง ๆ โดยเฉพาะถ้าคนที่คิดจะมาโจรกรรมข้อมูลของเราไม่ใช่ใครที่ไหน แต่กลับเป็นรัฐบาลเสียเอง เรื่องนี้น่าสนใจนะครับ เพราะเมื่อเดือนที่แล้ว มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของโลก ได้พยายามต่อโทรศัพท์สายตรงถึงบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการสอดแนมกิจการไอทีต่าง ๆ โดยก่อนหน้านั้นซัคเคอร์เบิร์กได้โพสต์ข้อความลงในเว็บเพจส่วนตัวของเขาเองว่า “I’ve called President Obama to express my frustration over the damage the government is creating for all of our future.” ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงความอึดอัดใจต่อนโยบายการสอดแนมกิจกรรมทางด้านอินเทอร์เน็ตของรัฐบาล ภายหลังจากที่มีข่าวและเอกสารสำคัญหลุดลอดออกมา เกี่ยวกับการที่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า National Security Agency (NSA) จะปล่อยมัลแวร์ (Malware) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สามารถโจรกรรมข้อมูลหรือสอดแนมดักจับข้อมูลออกมา หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือหน่วยงานเอ็นเอสเอ กำลังพยายามคิดค้นเครื่องมือที่เป็นเหมือนเครือข่ายสังคมออนไลน์ชนิดหนึ่งที่จะส่งโปรแกรมมัลแวร์แพร่เข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วโลกได้ ทั้งนี้จุดประสงค์ก็คือเพื่อสร้างเครือข่ายการสอดแนมข้อมูลต่าง ๆ นั่นเอง โดยทางซัคเคอร์เบิร์กเองเชื่อว่าขณะนี้หน่วยข่าวกรองกำลังพยายามสอดแนมเซิร์ฟเวอร์ของเฟซบุ๊กและปล่อยมัลแวร์เพื่อสอดแนมข้อมูลกิจกรรมทางด้านไอทีทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งหมดด้วย ทั้งนี้ซัคเคอร์เบิร์กยังได้ระบุเพิ่มเติมอีกว่า เขาได้กล่าวต่อโอบามาถึงจุดยืนที่คนส่วนใหญ่และองค์กรต่าง ๆ ล้วนแต่พยายามที่จะสร้างระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มั่นคงปลอดภัย โดยหวังจะให้เป็นพื้นที่สำหรับการแบ่งปันระหว่างคนทั่วทั้งโลก ดังนั้นเขาจึงรู้สึกไม่สบายใจเมื่อเห็นรายงานข่าวหลาย ๆ ครั้งเกี่ยวกับการที่รัฐบาลพยายามที่จะเข้ามาแทรกแซงและโจรกรรมข้อมูล หรือก็คือซัคเคอร์เบิร์กกล่าวข้อความต่อว่าไปที่รัฐบาลสหรัฐว่า อยากที่จะเห็นรัฐบาลสหรัฐทำหน้าที่เป็นผู้นำในการสร้างความปลอดภัยขึ้นในสังคมอินเทอร์เน็ต มิใช่เป็นผู้เจาะระบบคุกคามข้อมูลของผู้ใช้เสียเอง ซึ่งนี่ถือเป็นข้อความที่แข็งกร้าวของหนุ่มวัยเพียง 29 ปีไปสู่ประธานาธิบดีที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก ล่าสุดทางรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาได้มีการออกมายอมรับว่าประธานาธิบดีโอบามาได้มีการพูดคุยกับซัคเคอร์เบิร์กจริง ในประเด็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่าองค์กรภาครัฐของสหรัฐมีการสอดแนมข้อมูลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและเฟซบุ๊ก แต่ทั้งนี้ไม่มีการเปิดเผยลงในรายละเอียดของการพูดคุยครั้งนี้ จากเรื่องนี้ผมขอมองในสองมิติครับ มิติแรกคือในฐานะผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าแม้จะพยายามป้องกันเพียงใดข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมันก็ยังมีการหลุดรั่วออกไปได้บ้าง ดังนั้นทุก ๆ ครั้งของการใช้งานเราควรพึงระวังไว้เสมอนะครับ การนิ่งนอนใจคิดว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่การเปลี่ยนรหัสผ่านบ่อย ๆ ก็อาจจะไม่เพียงพอแล้วสำหรับยุคนี้ และมิติที่สองก็คือในมิติของรัฐบาล ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประเทศไหน ก็ต้องพึงตระหนักในการแทรกแซงข้อมูลองค์กรเอกชนต่าง ๆ แม้จะบอกว่าที่ทำไปก็เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเอง แต่การใช้อำนาจรัฐสอดแนมข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิได้รับอนุญาต ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมากในโลกสังคมเสรีอย่างปัจจุบัน เพราะหากรัฐบาลเลือกที่จะใช้อำนาจที่ไม่มีเหตุผลอันอธิบายได้หรือค้านกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ ผลที่ตีกลับมามันอาจจะเลวร้ายมากกว่าที่ใครคาดคิดก็เป็นได้นะครับ. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : งานสืบราชการลับบนเฟซบุ๊ก – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related