ถึงแม้ว่ายอดขายเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันจะลดลง แต่ก็ยังมีหน่วยงานขนาดใหญ่และคนบางกลุ่มที่ยังคงใช้งานและมีความจำเป็นต้องใช้งานอยู่ แม้ตลาดแท็บเล็ตจะมาแย่งส่วนแบ่งก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทั้งหลายนั้นต้องเสื่อม โทรมและประสิทธิภาพการทำงานลดลง ส่วนมากจะมาจากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น นายแมทเทียว มิลล์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เล่าว่า ปัจจุบันอัตราคอมพิวเตอร์ในเอเชียแปซิฟิก มียอดรวมประมาณ 140 ล้านเครื่อง มีการเพิ่มขึ้นของเครื่องใหม่ปีละประมาณ 23-24 ล้านเครื่อง โดยผลวิจัยของไอดีซีและมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ได้มีการคาดการณ์ว่า ปีนี้องค์กรทั่วโลกจะต้องมีการสูญเงินเกือบ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่มาจากมัลแวร์ที่ติดมากับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์แบ่งเป็น 127,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการจัดการระบบความปลอดภัย และ 364,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐสำหรับแก้ปัญหาการละเมิดข้อมูลสำคัญ ขณะที่กลุ่มคอนซูเมอร์ทั่วโลกจะใช้เงินราว 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และสูญเสียเวลากว่า 1,200 ล้านชั่วโมงเพื่อจัดการกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น และการสำรวจตลาดพีซีจากกลุ่มตัวอย่าง 203 เครื่องใน 11 ประเทศที่มีการติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ 61% มีมัลแวร์ติดมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น โทรจัน, เวิร์ม, ไวรัส, แฮกทูลส์, รูตคิต และแอดแวร์ ที่สำคัญพีซี 20 เครื่องจากประเทศไทยที่ถูกตรวจสอบนั้นพบว่าอัตราการติดมัลแวร์มากับเครื่องมีมากถึง 84% โดยปัญหาส่วนหนึ่งมาจากร้านค้า และแบรนด์ผู้ผลิตสินค้าไอทีขายพีซีแบบเครื่องเปล่าไม่มีระบบปฏิบัติการ ทำให้ผู้บริโภคต้องนำเครื่องไปลงซอฟต์แวร์เถื่อน ทำให้เกิดปัญหาด้านมัลแวร์ ดังนั้นลูกค้าควรเลือกซื้อโน้ตบุ๊กที่มาพร้อมซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ จากภัยคุกคามทางคอมพิวเตอร์และการส่งเครื่องไปซ่อมในลักษณะต่าง ๆ ทำให้ต้องสูญเสียเงินที่มาก ดังนั้น จึงอยากให้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และควรอัพเดทระบบความปลอดภัยของเครื่องเป็นประจำ เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ขณะที่ นางสาวกฤติยา เอี่ยมศิริ ผู้จัดการฝ่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า สิ่งที่ไมโครซอฟท์ทำได้คือการร่วมมือกับภาครัฐ อย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อนำส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงาน รวมไปถึงออกแคมเปญรณรงค์การใช้งานซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์กับผู้บริโภค ที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเฝ้าระวังเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่แล้ว จากการดำเนินการร่วมกับภาครัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าไทยจะหลุดจากประเทศเฝ้าระวัง แต่ก็ยังไม่สามารถ ทำให้ในปีนี้ก็ต้องพยายามกันใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ผู้บริโภคถือเป็นส่วนสำคัญในการลดใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ แม้ว่าปัจจุบันการขายคอมพิวเตอร์จะเป็นการทำราคาให้ถูกลง โดยการตัดระบบปฏิบัติการที่เคยมีมากับเครื่องออก แต่ถือเป็นความเสี่ยงขั้นแรก ที่ทำให้ผู้ใช้อาจหันไปเลือกใช้ระบบปฏิบัติการที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในราคาที่ถูกกว่า หรือได้รับของแถมจากร้านค้านั้น ๆ ไมโครซอฟท์ จะยังคงเดินหน้ารณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกใช้ระบบปฏิบัติการแท้ที่ถูกลิขสิทธิ์ อีกทั้ง อยากจะขอความร่วมมือจากผู้ค้าให้ขายสินค้าที่ถูกลิขสิทธิ์เมื่อลูกค้ามาซื้อเครื่องใหม่ และให้วินโดวส์กลายเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับแท็บเล็ต เพื่อตอบสนองการใช้งานแท็บเล็ตที่กำลังได้รับความนิยมในไทยขณะนี้ด้วย ถ้าผู้ประกอบการและผู้ค้า ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะการใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์ เชื่อว่า ของดีที่แพงจะมีคุณภาพและใช้งานได้ดีกว่าของถูกแต่แฝงด้วยภัยร้ายอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาอีกมากมาย. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : รู้ทันซอฟต์แวร์เถื่อนก่อนสูญเงินโดยไม่รู้ตัว

Posts related