เมลาโทนินเป็นสารสื่อประสาทที่สังเคราะห์จากกรดอะมิโนแอล-ทริปโตเฟน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ต้องได้รับจากสารอาหาร ผศ.ดร.สุภัสร์ สุบงกช อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่าปัจจุบันมีการนำเมลาโทนินมาใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาอาการนอนหลับที่ผิดปกติทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บรรเทาและป้องกันอาการปวดหัวจากไมเกรน และกลุ่มโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ รวมถึงป้องกันการเมาเวลาจากการบิน (เจ็ตแล็ก) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของระดับเมลาโทนินที่ลดลงกับการเกิดมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนในกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการมีระดับเมลาโทนินหลั่งน้อยในเวลากลางคืน คือ กลุ่มที่มีวัฏจักรการนอนหลับผิดปกติหรือต้องทำงานในเวลากลางคืน ทั้งนี้เมลาโทนิน นอกจากจะเป็นสารสำคัญที่พบในมนุษย์และสัตว์แล้ว ยังมีรายงานการค้นพบเมลาโทนินในพืชซึ่งเกี่ยว ข้องกับการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและควบคุมการเจริญเติบโตของพืชอีกด้วย โดยเมลาโทนินในพืชสามารถถูกดูดซึมผ่านทางเดินอาหารและมีผลเพิ่มความเข้มข้นของเมลาโทนินในเลือดได้ภายหลังการรับประทาน ตนจึงร่วมกับกลุ่มวิจัยเมลาโทนิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำวิจัย เรื่อง “การรับประทานผลไม้ต่อการเพิ่มระดับเมลาโทนินและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในอาสาสมัครสุขภาพดี” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากการศึกษาผลของการรับประทานผลไม้ 3 ชนิด ได้แก่ สับปะรด ส้ม และกล้วย ต่อการเพิ่มความเข้มข้นของเมลาโทนินและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ในอาสาสมัครสุขภาพดี 12 คน โดยให้กลุ่มตัวอย่างที่มีสุขภาพดีรับประทานน้ำส้มคั้นสดหรือสับปะรดสกัดสดจากผลไม้ 1 กิโลกรัม หรือกล้วยหอม 2 ลูก พบว่าความเข้มข้นเมลาโทนินในซีรั่มที่ 120 นาทีภายหลังรับประทานผลไม้ที่ศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเปรียบเทียบกับก่อนการรับประทาน ซึ่งความเข้มข้นของเมลาโทนินที่เพิ่มขึ้นภายหลังการรับประทานผลไม้ทั้ง 3 ชนิดใกล้เคียงกับความเข้มข้นสูงสุดของเมลาโทนินตามสรีรวิทยาปกติของร่างกายในเวลากลางคืน และพบว่าฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในซีรั่มของอาสาสมัครสุขภาพดีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ภายหลังรับประทานผลไม้ที่ศึกษาทั้ง 3 ชนิด ทั้งนี้นอกจากคณะวิจัยจะนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้มาเป็นแนวทางในการศึกษาต่อถึงผลทางคลินิกของการใช้สับปะรด ส้ม และกล้วยในผู้ป่วยที่มีภาวะบกพร่องของระดับเมลาโทนินในร่างกายแล้ว ยังจะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการวิจัยในการศึกษาเมลาโทนินในผลไม้ชนิดอื่นต่อไปด้วย  อย่างไรก็ดี นักวิจัยเตือนว่า การรับประทานผลไม้เหล่านี้โดยเฉพาะสับปะรดในผู้ป่วยเบาหวานจะต้องระมัดระวังด้วย เพราะมีน้ำตาลค่อนข้างสูง.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : วิจัยผลไม้ เพิ่มเมลาโทนินและต้านอนุมูลอิสระ

Posts related