ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ประธานคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหาและผังรายการ ได้ถอนวาระ การพิจารณาร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. … หรือร่างฯกำกับเนื้อหาทางวิทยุ – โทรทัศน์ ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ระบุว่า ห้ามนำเสนอเนื้อหาหลัก ได้แก่ 1.เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 2.เนื้อหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 3.เนื้อหาที่มีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร และ 4.เนื้อหาที่มีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังกำหนดมาตรการที่สามารถสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตแก้ไข หรือพักใช้ใบอนุญาตได้) ออกไปจากการพิจารณา และได้นำกลับเข้ามาพิจารณาในที่ประชุม กสท.อีกครั้ง วันจันทร์นี้ (4 พ.ย.56) ภายหลังมีการปรับแก้ไขร่างฯประกาศ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า ไม่น่าเชื่อว่า ร่างประกาศฯ ฉบับดังกล่าวจะถูกนำกลับเข้ามาอย่างเร่งด่วน เพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ ที่แม้จะตัดหมวด 2 มาตรการในการออกอากาศรายการ ออกไป ตามที่เคยถูกคัดค้านอย่างหนักมาตลอด แต่ปรากฎว่าได้นำบางข้อสำคัญไปไว้ในหมวด 1 เนื้อหารายการต้องห้ามมิให้ออกอากาศ แทน ดังนั้น มองว่า ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะจะกลายเป็นการมีสภาพบังคับเนื้อหาที่ต้องห้ามมากกว่าการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตามแนวทางการส่งเสริมให้ผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อสารมวลชน จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมและกำกับควบคุมกันเองภาย ภายใต้มาตฐานจริยธรรม ตามมาตรา 39 เพราะเชื่อว่าหากนำมาเป็นกฎต้องห้ามเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อาจเกิดแรงต้านมากกว่าเดิม ซึ่งที่ผ่านมา นักกฎหมายบางคนได้แนะนำ การออกประกาศตามาตรา 37 ฉบับนี้ ขีดเส้นต่ำสุดที่ไม่อนุญาตให้ใครกระโดดข้ามเส้นที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรง เพราะนี่เป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย ที่เรื่องใดยังเป็นข้อถกเถียง ต้องปล่อยให้ถกเถียง เพราะเมื่อไรที่เราเลือกขีดเส้นแล้ว กสทช.จะกลายเป็นคนชี้ถูกชี้ผิด “ส่วนตัวเสียใจ ที่การถอยของกสท.คราวที่แล้ว น่าที่จะนำกลับไปทบทวนให้รอบคอบมากขึ้น กลับกลายเป็นการถอยที่ซ้ำเติมการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ ตามหลักการรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การเมืองเข้มข้นขณะนี้ หวั่นว่าร่างประกาศฉบับนี้จะถูกโยงการเมืองเป็นเครื่องมือปิดกั้นสื่อของฝ่าย ทั้งนี้ ตนจะคัดค้านอย่างเต็มที่ และขอเรียกร้องให้สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจการแสดงออกทางความคิดเห็น ร่วมจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” นางสาวสุภิญญา กล่าว

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : จับตาผลประชุมบอร์ด กสท.ในร่างประกาศคุมเนื้อหา

Posts related