นับถอยหลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 ส่งผลให้ทุกหน่วยงานเร่งปรับตัวทั้งด้านคมนาคม, การศึกษา, สาธารณสุข, ธุรกิจความสวยความงาม หรือแม้แต่ด้านพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตามอง เพราะเมื่อเออีซีเริ่มขึ้นอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นผู้ขายส่งไฟฟ้าให้กับไทย ทั้ง สปป.ลาว และมาเลเซีย อาจลดปริมาณการขายไฟฟ้าให้กับไทยลง เพราะต้องรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศของตัวเองที่จะเพิ่มสูงขึ้น  เมื่อถึงวันนั้น…คงไม่ต้องคาดเดาว่าไทยจะได้รับความเดือดร้อนมากเพียงใด หากไม่มีการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า!!  เห็นได้จากที่ผ่านมา ที่ไทยอาจไม่ได้ฉุกคิดและเตรียมความพร้อมกับหายนะที่อาจเกิดขึ้น ทำให้หลายคนยังจำเหตุการณ์เมื่อช่วงสงกรานต์ปี 56 กันได้อย่างดี หลังจากที่เมียนมาร์ได้ประกาศหยุดส่งก๊าซธรรมชาติให้กับไทยเป็นเวลา 10 วัน เพื่อซ่อมแท่นผลิตในแหล่งยาดานา ที่เริ่มทรุดตัวตั้งแต่ปี 51 ส่งผลให้ไทยมีก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้โรงไฟฟ้าในไทยเป็นอัมพาต ไฟฟ้าสะดุด ต้องหยุดจ่ายไฟเป็นช่วง ๆ เดือดร้อนกันเกือบทั่วประเทศ กระทบกันตั้งแต่รากหญ้าจนถึงไฮโซ โรงงานอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนแผนการผลิต ความเชื่อมั่นด้านพลังงานวูบหายในสายตานักลงทุน “ผศ.ดร.วันชัย ฉิมฉวี” อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้บอกเล่าถึงสถานการณ์ด้านพลังงานไฟฟ้าผ่านรายการ “เศรษฐกิจติดจอ” ทางเดลินิวส์ทีวี เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า สิ่งที่ไทยต้องกังวลและต้องยอมรับสภาพคือ เมื่อเปิดเออีซี สิ่งที่ถือเป็นจุดอ่อนของไทยมากที่สุด คือ เรื่องค่าแรงแพง วัตถุดิบมีน้อย ทำให้นักลงทุนต่างวิ่งไปหาประเทศที่มีศักยภาพ  มีทรัพยากรที่สดกว่า รวมไปถึงค่าแรงที่ถูกกว่า  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมียนมาร์ และ สปป.ลาว  ซึ่งจะส่งผลให้ทั้ง 2 ประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามีมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องเก็บพลังงานของตัวเองไว้ใช้ให้เพียงพอก่อนนำออกมาขายให้กับไทย ดังนั้นสิ่งที่น่ากลัวและค่อนข้างอันตรายคือ ภายใน 5 ปีข้างหน้า ไทยจะต้องทำอย่างไรเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 50% ขณะที่ภาคเอกชนผลิตได้ 44% ที่เหลือนำเข้าจากสปป.ลาว และมาเลเซีย โดยไฟฟ้าทั้งหมดนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม 52% ครัวเรือน 27% ภาคธุรกิจ 18%  อื่น ๆ 2.8% และภาคการเกษตร 0.2% ผศ.ดร.วันชัย บอกว่า เมื่อเปิดเออีซีแล้ว สิ่งที่ไทยต้องเตรียมความพร้อมอย่างเร่งด่วน คือ ต้องเตรียมพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉินที่ต้องเผชิญกับการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า และหากต้องพึ่งพาพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ล้วนแต่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ต้องมองหาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เช่น พลังงานถ่านหิน แม้ไม่สามารถผลิตได้เอง ก็จำเป็นต้องซื้อในอนาคต ซึ่งผู้ที่สามารถผลิตได้มากสุดตอนนี้ คือ อินโดนีเซีย  นอกจากนี้ ไทยต้องเร่งศึกษาและลงทุนในเรื่องของพลังงานนิวเคลียร์ โดยยอมรับว่าไทยหนีไม่พ้นอย่างแน่นอน แม้ว่าไทยมีพลังงานอยู่บ้าง แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นหรือไม่? ดังนั้นหากมีพลังงานไฟฟ้าสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น ย่อมดีกว่าไม่มีการสำรองไว้ แต่หากจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาให้รอบด้านโดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุด แต่เรื่องของความปลอดภัยนั้น เริ่มมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น โรงงานนิวเคลียร์มีระบบที่ป้องกันตัวเองได้  มีระบบระบายความร้อนที่ได้มาตรฐานมากขึ้น ดังนั้นการจะเกิดเหตุการณ์เหมือนกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดแบบที่ฟูกุชิมะ ที่ญี่ปุ่น คงไม่มีให้เห็น และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นก็มาจากภัยธรรมชาติเพราะในเวลานั้นเกิดจากแผ่นดินไหวและเกิดสึนามิ ทั้ง 2 ทางเลือกข้างต้น ล้วนเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งประเทศ แต่หากจะเริ่มการแก้ไขขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ความร่วมมือระดับภาคครัวเรือน ซึ่งจะทำอย่างไรให้ชุมชน ครัวเรือนมีไฟฟ้าไว้ใช้ได้ในภาวะปกติและสภาวะฉุกเฉิน สิ่งที่ดำเนินการได้คือภาครัฐต้องเข้ามาให้การสนับสนุน โดยเฉพาะโครงการผลิต “โซลาร์ลูฟ” ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนมีไฟฟ้าไว้ใช้ยามจำเป็น เช่น ให้งบประมาณสนับสนุน 30% เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนดำเนินการเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมให้เดินหน้าได้ในยามที่เกิดปัญหา ทั้งเรื่องของอาชีพ การผลิต การส่งออกต่าง ๆ  นอกจากนี้ภาคครัวเรือนต้องเร่งสร้างไบโอดีเซล หรือแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ในยามจำเป็นสำหรับชุมชนตนเองด้วย ขณะที่ภาครัฐต้องสนับสนุนชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อให้เป็นชุมชนนำร่องในการประหยัดพลังงานด้วย นอกจากนี้ภาครัฐยังเป็นองค์กรสำคัญเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างพลังงานนิวเคลียร์ที่เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสำรองไฟไว้ใช้ในประเทศได้แบบไม่ต้องง้อการนำเข้า วันนี้…เริ่ม มองเห็นสัญญาณบางอย่างที่ทำให้พลังงานอาจมีไม่เพียงพอ หากไทยยังพึ่งพาต่างประเทศมากขึ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้น! สิ่งที่เริ่มต้นได้ คือ การสร้างวินัยเพื่อประหยัดพลังงาน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป. ภัทราภรณ์ พลายเถื่อน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : จับตา 5 ปี ไทยเจอหนักวิกฤติพลังงาน – เออีซีกับม.หอการค้าไทย

Posts related