นายธนวรรธน์พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์และเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่75.0  ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นเดือนที่ 8ติดต่อกัน และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือน เนื่องจากความกังวลจากการชุมนุมทางการเมืองตลอดทั้งเดือนพ.ย.รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง, ค่าครองชีพที่สูงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก “ในการสำรวจที่ผ่านมาประชาชนมีความกังวลว่าการชุมนุมจะเกิดความรุนแรงในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นและกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจเห็นได้จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 56 จาก3.8-4.3% เหลือ 3.0%   ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดจาก 3.7% เหลือ 3.0% และคาดว่าปี 57 จะขยายตัว 4% กว่าๆ จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 4.8% เป็นต้น” อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์การชุมนุมในช่วงวันที่3 ธ.ค.ที่กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถเข้าไปในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีการจับมือพูดจาทักทายกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต่อสู้กันมาหลายวัน ช่วยลดความตึงเครียดน่าจะทำให้ลดความวิตกกังวลจากทั้งต่างชาติ จากภาคธุรกิจลงได้  ดังนั้นเชื่อว่าหากไม่มีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรงก็จะส่งให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวในต้นปี57 นายธนวรรธน์กล่าวว่า หากการชุมนุมจบลงด้วยดีเช่นนี้ คาดว่าจะเกิดความสูญเสียและกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ10,000 – 20,000 ล้านบาท โดยจำนวนนี้เป็นการกระทบต่อยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป80,000 -120,000 คนต่อเดือน หรือคิดเป็นมูลค่ารายได้ที่หายไป 7,000 -10,000ล้านบาท  ส่งผลให้มีผลกระทบต่อจีดีพีประมาณ0.1-0.2%    “หากสถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้นเชื่อว่าในปี 57เศรษฐกิจไทยก็จะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นเช่นกันเนื่องจากจะมีเม็ดเงินจากโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท และ การบริหารจัดการน้ำ350,000 ล้านบาท แต่หากโครงการดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะโครงการลงทุน 2ล้านล้านบาท สะดุดก็อาจทำให้เม็ดเงินหายจากระบบในปี 57 ประมาณ 100,000 ล้านบาทและจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีในปีหน้าลดลง 0.5%” นายวชิร คูณทวีเทพผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เดือน พ.ย.อยู่ที่ 65.0 ลดลงจาก 66.6เดือนต.ค. ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และต่ำสุดในรอบ 22 เดือนเช่นกัน   ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำเท่ากับ 68.2 ลดจาก 69.4 เดือน ต.ค. ลดลงเป็นเดือนที่ 8 และต่ำสุดในรอบ 18 เดือนตั้งแต่ ส.ค. 55  ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ91.8 ลดจาก 93.7 เดือน ต.ค.ซึ่งลดลงเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ต่ำกว่าระดับ 100เป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 24 เดือน นับตั้งแต่ ธ.ค. 54 สำหรับการที่ดัชนีปรับลดลงอย่างมากในเดือนพ.ย. เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายปัจจัย ขณะที่ปัจจัยบวกมีแค่ 2 ปัจจัย ได้แก่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 2.25% และระดับราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกยังทรงตัวอยู่ที่ลิตรละ 29.99 บาท ส่วนดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่เดือนพ.ย.56 อยู่ที่ระดับ 100.5  ต่ำสุดในรอบ 14เดือน , ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่อยู่ท่ะดับ 66.9 ต่ำสุดในระอบ 89เดือน, ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว อยู่ระดับ 83ซึ่งต่ำสุดในรอบ 51 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 52 เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในระดับ55 ต่ำสุดในรอบ 30 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 54 เป็นต้นมาโดยกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าในปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่มีสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในระดับดีโดยคาดหวังในสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 3 เดือนข้างหน้านั้นส่วนใหญ่มองว่าการเมืองในอนาคตยังมีความเสี่ยง อย่างไรก็ดี การสำรวจครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงจากการชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงและการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายจุด

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดรอบ 22 เดือน

Posts related