รัฐวิสาหกิจไทยอยู่ในช่วงสุญญากาศมาซักพักใหญ่แล้ว เพราะด้วยความแตกแยกทางการเมือง ทำให้รัฐวิสาหกิจ 58 หน่วยงาน ล้วนมีปัญหาในการขออนุมัติงบประมาณจาก ครม. ไม่เว้นแม้แต่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่เป็นอีก 1 องค์กรโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของไทย ที่เมื่อจะเสนอโครงการขนาดใหญ่จะต้องได้รับความเห็นชอบงบประมาณจากรัฐบาล พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย ประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ทีโอที เล่าว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันในหลาย ๆ อย่าง ทำให้แผนโครงการทีโอที ต้องสะดุดไป โดยเฉพาะโครงการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ สำหรับโครงการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ 3 เส้นทางที่ยังไม่มีการอนุมัตินั้นคิดเป็นมูลค่ารวม 5,900 ล้านบาท ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะที่ไม่มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้ไม่สามารถอนุมัติโครงการดังกล่าวได้ และแผนการร่วมทุน 1 เส้นทาง มูลค่า 1,600 ล้านบาท ของทีโอทีต้องหลุดไปด้วย อย่างไรก็ตาม ทีโอที ได้เตรียมแผนเข้าร่วมดำเนินการกับประเทศอื่น ๆ ใน 3 เส้นทาง คือ เส้นทาง เอเชีย- ยุโรป สิงคโปร์-ยุโรป และ ฮ่องกง-ญี่ปุ่น แต่การที่ไม่มี ครม. เพื่ออนุมัติ ทำให้ทีโอทีไม่สามารถลงทุนในเส้นทางแรกได้ และอยู่ระหว่างการรออนุมัติอีก2 เส้นทาง โดยแผนรับมือภาวะการเมืองที่ไม่ปกติในขณะนี้ ทีโอที จะต้องเปลี่ยนจากการร่วมลงทุนในฐานะหนึ่งในประเทศภาคีสมาชิกเป็นซื้อเหมาโครงข่าย (Capacity) เพื่อลดขนาดมูลค่าการใช้งบลงทุนลง ซึ่งแม้ต้นทุนต่อหน่วยจะแพงขึ้น แต่ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ทีโอที บอร์ด ยังได้พิจารณาแผนปรับปรุงคุณภาพการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ (เอฟทีทีเอกซ์) จำนวน 1.3 แสนพอร์ต ใช้งบดำเนินงาน 2,000 ล้านบาท โดยให้ฝ่ายบริหารเสนอรายละเอียดก่อนส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบ ด้าน นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ระบุว่า วันที่ 2 มิ.ย. 57 ทีโอที ได้เสนอแผนโครงการหลัก ๆ ทั้งหมดที่รอการอนุมัติจากรัฐบาลต่อ คสช.หลังจากนำเสนอปากเปล่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 57 ไปแล้ว ประกอบด้วย โครงการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ มูลค่า 5,979.14 ล้านบาท เพื่อสร้างเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อตรงจากไทยไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางอินเทอร์เน็ตทั่วโลก 4 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และ ฝรั่งเศส โดยที่ไทยไม่ต้องใช้เส้นทางเชื่อมจากมาเลเซียไปยังสิงคโปร์อีก โครงการขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) จำนวน2 ล้านเลขหมาย มูลค่าลงทุน 32,550ล้านบาท ระยะเวลา 4 ปี (2557-2560) สร้างรายได้ชดเชยสัมปทานที่จะสิ้นสุดในปี 2558 และรองรับแผนสมาร์ท ไทยแลนด์ โครงการปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคม (NGN) มูลค่า 2,836 ล้านบาท ทดแทนอุปกรณ์ชุมสายและข่ายวายที่หมดอายุ สามารถรองรับบริการที่หลากหลาย (Multi Services) ได้ 787,500 เลขหมาย จะเห็นได้ว่า ทีโอที มีแผนโครงการที่รอการอนุมัติรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ทีโอทีหวังคสช.ผ่านโครงการกว่า 4 หมื่นล้าน

Posts related