น.ส.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สิ่งที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจไทยขณะนี้ คือช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากไทยประสบปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ที่มีการชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.จนถึงขณะนี้กว่า 1 เดือนแล้ว ถือปัจจัยลบซ้ำเติมภาพรวมเศรษฐกิจ ที่ไม่มีปัจจัยบวกทำให้ขยายตัวได้ในระดับสูงอยู่แล้ว โดยคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 นี้ จะเติบโตได้ 1% ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ทั้งปีโตได้ 3% เท่ากับการประเมินภาวะเศรษฐกิจล่าสุดเดือนต.ค. ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส 4 ทรงตัว “จริงๆ แล้ว ธปท.คาดหวังว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 นี้จะดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น แม้การส่งออกไม่ได้ดูดีทุกตัว เพราะยังมีส่งออกบางตัวที่ฉุดการเติบโตอยู่ แต่บางตัวก็ดีขึ้น แม้อาจไม่ได้ขยายตัวดีตามที่คาดหวังไว้ ดังนั้นหากมองในแง่ดี จะเห็นว่าสัญญาณบวกจากเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น โดยปีหน้าเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับแต่ละเครื่องยนต์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยใดที่กล้าพูดว่าจะแข็งแกร่งพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เบื้องต้นเชื่อว่าการส่งออกปี 57 จะขยายตัวได้สูงขึ้น จากความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก” ทั้งนี้การปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 3% นั้น หลัก ๆ คือตัวเลขไตรมาส 3 ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้มาก ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค และการลงทุนขยายตัวต่ำกว่าที่คิด แรงส่งลดลงไปมาก รวมถึงภาคการคลังที่ตั้งใจจะกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านี้ แต่เกิดปัญหาทางการเมือง ทำให้แรงกระตุ้นจากภาคการคลังต่ำ รวมทั้ง มูลค่าการส่งออกที่พอเห็นตัวเลข 10 เดือนของปีนี้ โตเพียง 0.1% เทียบช่วงเดียวกับปีก่อน ทำให้ประเมินว่าทั้งปีคงไม่ได้เติบโตไปมากกว่านี้ โดยตัวหลักที่ฉุดเศรษฐกิจปีนี้ คือ เรื่องโครงการรถคันแรกที่ส่งมอบใกล้หมด และเทียบกับปีก่อนที่ฐานการขยายตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาพรวมการอุปโภคบริโภคปีนี้ทั้งปีไม่ค่อยโตมากนัก อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่าปี 57 อาจมีมาตรการที่เข้ามาช่วยกระตุ้นภาคการผลิตรถยนต์มากขึ้น เช่น ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ออกรถรุ่นประหยัดพลังงาน และรุ่นใหม่ ๆ ออกมาจูงใจลูกค้า เป็นต้น เป็นแรงส่งให้การอุปโภคบริโภคปีหน้าโตได้ตามสภาพ แต่คงดีกว่าปีนี้ และคาดหวังว่าภาคการคลังในปีหน้าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีกว่าปีนี้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ธปท.ยังห่วงการเมืองฉุดจีดีพีไม่ถึง 3%

Posts related