“วิทยาศาสตร์การกีฬา” ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในวงการกีฬา เนื่องจากเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้นักกีฬาทั้งมือสมัครเล่น และมืออาชีพ  ได้ประสบความสำเร็จในการฝึกซ้อมและแข่งขัน ทาง กรมพลศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ก็มีนโยบายที่จะใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้าไปช่วยในทุกมิติ ในขณะเดียวกันยังส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ที่สนใจสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การกีฬาขึ้นมา เพื่อลดต้นทุนในการนำเข้านวัตกรรมและเครื่องมือต่าง ๆ จากต่างประเทศที่มีราคาค่อนข้างสูง จึงได้จัดการประกวดนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้าประกวด ดร.ชาญวิทย์ ผลชีวิน รองอธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า กรมพลศึกษายังเป็นหน่วยงานแรกที่คิดริเริ่มในการประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งกิจกรรมการประกวดนี้ได้มีการจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และมีการแบ่งประเภทการประกวดออกเป็นประเภทต่าง ๆ คือ ประเภทอาชีวศึกษา ประเภทอุดมศึกษา และประเภทต้นทุนต่ำ และในอนาคตอันใกล้นี้กรมพลศึกษามีความมั่นใจว่าสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้จะสามารถนำไปต่อยอดและใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ รวมถึงสามารถนำไปจำหน่ายในต่างประเทศได้ในอนาคต ทั้งผลการประกวดในปีนี้ รางวัลชนะเลิศในประเภทอาชีวศึกษา ได้แก่ผลงาน  “เครื่องพัฒนาประสิทธิภาพนักกีฬาพายเรือ” ของทีมพิกุลนรา จาก วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส  ส่วนรางวัลชนะเลิศประเภทอุดมศึกษา ได้แก่ผลงาน “เครื่องวัดมุมข้อเข่าสำหรับวิทยาศาสตร์การกีฬา”  ของทีม  MU TEAM จาก มหาวิทยาลัยมหิดล และสุดท้าย รางวัลชนะเลิศประเภทต้นทุนต่ำ ได้แก่ “เครื่องประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อให้ความมั่นคงของลำตัว”  ของ น.ส.วิภาดา ฉอ้อนครบุรี จากโรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา นายจตุรพล นวภูษณะกนก ตัวแทนทีมพิกุลนรา วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส ผู้ชนะเลิศประเภทอาชีวศึกษา กล่าวว่า ผลงานที่พัฒนาขึ้นเกิดจากที่จังหวัดนราธิวาสมีการแข่งขันพายเรือประจำปี และทางวิทยาลัยได้ส่งทีมเข้าแข่งขันทุกปี ปกติการซ้อมพายเรือต้องซ้อมเป็นทีม แต่เครื่องพัฒนาประสิทธิภาพนักกีฬาพายเรือนี้สามารถฝึกซ้อมคนเดียวได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบทีม โดยผลงานชิ้นนี้ใช้ระยะเวลาในการผลิตและทดลองเป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งเครื่องพัฒนาประสิทธิภาพนักกีฬาพายเรือนี้จะสามารถฝึกฝนให้นักกีฬามีประสิทธิ ภาพในการพายเรือ และในอนาคตจะมีการพัฒนากลไกการดึงสปริงให้สอดคล้องกับการพายและพัฒนาทิศทางการพายให้เหมือนจริงมากขึ้น”  ด้าน น.ส.อารยา อารีสกุลสุข ตัวแทนทีม MU TEAM มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของรางวัลชนะเลิศประเภทอุดมศึกษา กล่าวว่า ทางมหา วิทยาลัยมหิดลมีการพัฒนางานวิจัยและต่อยอดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นไปทางด้านการแพทย์ และทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยที่พิการและผู้ป่วยสูงอายุ ทางทีมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและพัฒนาเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงในราคาที่ถูก วัสดุต้องหาได้ในประเทศไทย เป็นฝีมือของคนไทยที่พัฒนางานนวัตกรรมที่ดี เพื่อทดแทนเครื่องมือที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาที่ค่อนข้างสูง  “เครื่องวัดมุมข้อเข่าสำหรับวิทยาศาสตร์การกีฬาชิ้นนี้ได้ใช้ระยะเวลาในการทดลองและศึกษาเป็นเวลา 1 ปี ที่ต้องใช้ระยะเวลานาน เป็นเพราะเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ จึงต้องมีการอบรมการวิจัยในมนุษย์ มีการทดสอบจริงกับผู้ป่วย และเมื่อสร้างเครื่องมือเสร็จจะต้องได้รับการรับรองจากแพทย์และสาธารณสุข เพราะเครื่องมือนี้เป็นเครื่องที่สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงโอกาสน้อยมากที่โรงพยาบาลจะรับรอง เพราะฉะนั้นเครื่องมือต้องได้รับการการันตีและได้รับการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมในคน ซึ่งเป็นใบรับรองในงานวิจัยชิ้นนี้ว่าใช้งานได้จริงมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน” น.ส.อารยา กล่าว  ส่วน น.ส.วิภาดา ฉอ้อนครบุรี  ผู้คิดค้น เครื่องประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อให้ความมั่นคงของลำตัว อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทต้นทุนต่ำ กล่าวว่า จากการที่เป็นนักกายภาพบําบัด รู้ว่าเครื่องมือที่ใช้นั้นมีราคาที่แพงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงได้เกิดความคิดที่จะผลิตนวัตกรรมจากวัสดุที่เหลือใช้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานประสานกันของระบบประสาทสั่งการกล้ามเนื้อและการทรงตัวเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็ว ให้กล้ามเนื้อส่วนที่ได้รับการฝึกได้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเครื่องนี้ใช้ระยะเวลาคิดค้นไม่นานนัก ในอนาคตจะมีการต่อยอดและพัฒนารูปแบบของตัวเครื่องให้มีความน่าใช้งานเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงจุดมุ่งหมายเดิม คืออุปกรณ์นี้ต้องใช้งานง่ายที่สุด เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยมีต้นทุนที่ต่ำที่สุดด้วย การประกวดนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬาในครั้งนี้ นอกจากจะเปิดโอกาสให้คนไทยได้แสดงฝีมือในการคิดค้นและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการกีฬาแล้ว ยังเป็นการสร้างความพร้อมต่อความต้องการใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่สามารถผลักดันไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ ช่วยลดปริมาณการใช้เครื่องมือที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในอนาคตได้.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬาฝีมือคนไทย – ฉลาดสุดๆ

Posts related