ในยุคที่อินเทอร์เน็ตขยายวงกว้างอย่างทุกวันนี้ การใช้งานเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ดสาธารณะในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนั้นถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านที่ใช้อินเทอร์เน็ตประจำรู้จักกันดี เว็บไซต์สาธารณะที่ให้บริการถาม- ตอบแยกตามหมวดหมู่ความสนใจนั้นก็มีอยู่หลากหลายในประเทศไทย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นลักษณะที่ผู้ใช้อย่างเรา ๆ สามารถตั้งกระทู้ถามตอบได้อย่างอิสระและไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ การสมัครก็ง่าย ๆ บางที่แค่กรอกรหัสที่แสดงบนจอภาพก็เข้าไปใช้ถามตอบได้แล้ว บางทีเข้มหน่อยก็อาจมีการยืนยันระบุตัวตนผู้ใช้ด้วยอีเมลหรือสำเนาบัตรประชาชนบ้าง เว็บไซต์ที่อนุญาตให้มีการโพสต์ถาม-ตอบในลักษณะนี้ เดี๋ยวนี้มีอยู่เป็นจำนวนมากนะครับ เว็บไหนที่โด่งดังหน่อยก็มีจำนวนกระทู้ที่ถูกตั้งใหม่ต่อวันหลักพัน ไม่นับว่าจำนวนคอมเมนต์หรือโพสต์ใหม่ ๆ ในแต่ละวันว่ามีเท่าไหร่อีกนะครับ เพราะจำนวนผู้ใช้ที่มากขึ้นนี่เอง ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอพฤติกรรมในการถาม-ตอบในเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมบ้าง ทั้งการด่าทอ การละเมิดลิขสิทธิ์ การหมิ่นประมาท ฯลฯ บางพฤติกรรมก็รุนแรงถึงขั้นผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เลยทีเดียว ซึ่งโดยปกติถ้าไม่มีเจ้าทุกข์หรือเจ้าทุกข์ไม่เอาความเรื่องมันก็จบไปแค่ในกระทู้นั่นล่ะครับ แต่หากเกิดการกระทำผิดบนอินเทอร์เน็ตและมีเจ้าทุกข์ไปร้องเรียนเจ้าพนักงานเพื่อเอาผิดอีกฝ่ายแล้ว แม้ผู้กระทำจะเป็นแค่เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ต้องถูกสืบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเทคโนโลยีที่พวกเราหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนผู้ดูแลตรวจสอบเว็บไซต์ต่าง ๆ สามารถนำมาใช้เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดหรือจับผิดผู้ตอบกระทู้ได้นั้นมีอยู่มากมาย การใช้งานก็ไม่ได้ยุ่งยากเพียงแค่อาศัยความรู้พื้นฐานของระบบเครือข่ายอย่าง Internet Protocol หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า ไอพีแอดเดรส (IP Address) เท่านั้นเองครับ ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเจ้าไอพีแอดเดรสกันก่อนครับว่ามันคืออะไร คำ ๆ นี้ย่อมาจากคำว่า Internet Protocol  Address ซึ่งเป็นหมายเลขประจำเครื่องของคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในระบบเครือข่ายต่าง ๆ เช่น โปรโตคอลแบบ TCP/IP เปรียบไปแล้วก็คล้าย ๆ กับที่อยู่บ้านเลขที่ของเรานั่นล่ะครับ เวลาจะส่งพัสดุไปรษณีย์ให้กันก็ต้องระบุที่อยู่และบ้านเลขที่ของผู้รับให้ชัดเจนบุรุษไปรษณีย์จะได้ไม่ส่งของไปผิดบ้าน เช่นเดียวกันกับไอพีแอดเดรสที่แต่ละเครื่องในเครือข่ายจะมีเลขไอพีแอดเดรสเป็นของตนเองเพื่อให้การโอนย้ายข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายไม่ผิดพลาดนั่นเอง ในเครือข่ายหนึ่ง ๆ เช่น ในบ้านเดียวกัน (เราท์เตอร์เครื่องเดียวกัน) หอพักเดียวกัน หรือ ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เดียวกัน หากมีเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายอยู่หลายเครื่อง โดยปกติแล้ว ไอพีแอดเดรสของเครื่องเหล่านั้นที่ผู้ใช้เว็บไซต์คนอื่นเห็นก็จะเป็นตัวเลขเดียวกัน แต่ถ้าคิดจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยและในโลกที่มีอยู่มากมายขนาดนี้ มันก็เป็นไปได้ยากนะครับที่ในกระทู้หรือหัวข้อหนึ่ง ๆ ที่เปิดอิสระให้ใครก็ได้เข้ามาตอบ จะบังเอิญเจอคนหลายคนที่มีไอพีแอดเดรสเดียวกันปรากฏขึ้นมา โดยเฉพาะถ้ากลุ่มคนที่ไอพีเดียวกันเหล่านั้นมีพฤติกรรมที่น่าสงสัยไปในทางเดียวกันด้วย หลาย ๆ คนก็เลยมักจะใช้สิ่งนี้เป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าผู้ใช้รายที่มีเลขไอพีเหมือนกันนั้นอาจจะมีเจตนาอวตารตัวมาหลาย ๆ ชื่อเพื่อกระทำการหลอกลวง เช่น เป็นหน้าม้าสนับสนุนให้คนซื้อสินค้าของตนเอง หรือ หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ดังที่เป็นปัญหาในเว็บไซต์ถามตอบต่าง ๆ นอกจากดูว่ามีใครสักคนกำลังเนียนแยกร่างตอบกระทู้นี้อยู่หรือไม่ด้วยการสันนิษฐานจากเลขไอพีที่เหมือนกันแล้ว เรายังสามารถดูพิกัดคร่าว ๆ ของผู้โพสต์ผ่านทางไอพีแอดเดรสได้ โดยใช้บริการของเว็บไซต์ฟรีที่ใช้ในการติดตามไอพีแอดเดรส แค่นี้ก็จะรู้ได้อย่างไม่ยากเย็นเลยครับว่าผู้โพสต์ข้อความนี้จากจังหวัดไหน ประเทศไหน แล้วเขาน่าจะเป็นบุคคลเดียวกันกับอีกโพสต์ที่กำลังสงสัยอยู่หรือไม่ การติดตามไอพีแอดเดรสนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยของเราเลยนะครับ เป็นเพียงความรู้พื้นฐานในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์สาธารณะที่ทั้งนักสืบสมัครเล่นและผู้บังคับใช้กฎหมายใช้อยู่จริงในการสืบหาและติดตามพิกัดของอาชญากรออนไลน์ ถึงตรงนี้คุณผู้อ่านอาจมีคำถามว่าไอพีแอดเดรสพวกนี้ สามารถปลอมขึ้นมาได้ไหม? แน่นอนครับ มันสามารถทำได้ แถมทำได้ง่าย ๆ อีกต่างหาก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาชญากรในเว็บไซต์ถามตอบที่เรา ๆ ท่าน ๆ พบกันประจำ มักไม่ได้เป็นอาชญากรโดยกำเนิดหรือโดยอาชีพ แต่มักเป็นกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่อายุน้อย หรือ มีความเชื่อที่ผิด ๆ จนนำพาไปสู่โลกแห่งอาชญากรรมออนไลน์เสียมากกว่า แล้วก็ด้วยความที่พวกเขาไม่ได้เป็นมิจฉาชีพโดยสายเลือดหรือโดยอาชีพนั่นเองล่ะครับ ทำให้การทำผิดมักมีช่องโหว่และทิ้งหลักฐานเอาไว้ให้เรา ๆ ท่าน ๆ ตามจับผิดได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะถ้าคนที่ติดตามมีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีด้วยแล้ว การแก้ปัญหาอาชญากรรมในเว็บไซต์ถามตอบนี้ ผมมองเป็นสองประเด็นครับ ประเด็นแรก คือ การปลูกจิตสำนึกและจิตสาธารณะให้ผู้ใช้เว็บไซต์ถามตอบ ให้พวกเขาเข้าใจว่าแม้จะเป็นการสื่อสารที่ไม่เห็นหน้าไม่พบตัวจริงกัน แต่สังคมออนไลน์ก็ไม่ใช่สังคมจำแลง แต่เป็นสังคมจริงสังคมหนึ่งสำหรับการอยู่ร่วมกันที่ต้องมีกฎระเบียบและขนบธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อทำผิดก็จะต้องถูกลงโทษไม่ว่าจะทางกฎหมายหรือทางสังคมก็ตาม ผมเชื่อว่าพอผู้คนเข้าใจได้อย่างนี้ จำนวนคนทำความผิดจะลดลง แต่แน่นอนครับ ว่าไม่มีทางหมดไปได้แน่นอน อีกประเด็นหนึ่งของการแก้ปัญหาอาชญากรรมในเว็บไซต์ถามตอบ ก็คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เพราะหลายครั้งที่เราไม่สามารถตามจับอาชญากรคนทำผิดได้ สาเหตุไม่ใช่ปัญหาเรื่องเทคนิค ไม่ใช่เรื่องการหาเลขไอพีไม่ได้ ไม่ใช่เพราะคนทำผิดใช้พร็อกซี่ (proxy) หรือเทคโนโลยีการหลบอะไรที่ซับซ้อน แต่เกิดจากการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ก็ให้ลงบันทึกประจำวันเอาไว้เพียงเท่านั้นไม่ได้มีการออกไปติดตามสืบสวนให้ ซึ่งในมิติหนึ่งผมเข้าใจนะครับว่างานของเจ้าหน้าที่นั้นมีเยอะ และปัญหาเหล่านี้ในอินเทอร์เน็ตนับวันก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น แต่ผมเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมที่ดีนอกจากจะต้องคืนความยุติธรรมให้ประชาชนได้แล้ว ยังควรจะต้องทำงานได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพด้วย ในเมื่อโลกนี้มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยให้เราทำอะไร ๆ ได้เร็วได้คล่องตัวถึงขนาดนี้แล้ว ผมเชื่อว่าถึงเวลาแล้วเช่นกันนะครับที่กระบวนการยุติธรรมไทยจะต้องปรับตัว เร่งความเร็วให้เท่าทันกับโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ใบนี้ให้ได้. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : นักสืบออนไลน์ และอาชญากรรมในกระทู้ – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related