เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีปัจจุบันมีส่วนช่วยให้การติดต่อสื่อสารง่ายขึ้น และคงไม่มีใครอยากให้การใช้งาน เช่น การดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ต้องสะดุด นายบัญญัติ เกิดนิยม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร และองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน ประเทศไทย จำกัด เล่าว่า อีริคสัน โมบิลิตี้ รีพอร์ท ประจำปี 57 พบว่า 3 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ประเทศไทย และบังกลาเทศ มีการใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มสุทธิมากที่สุดติดอันดับท็อป 5 ของโลก ที่เพิ่มขึ้น 7 ล้านราย 6 ล้านราย และ 4 ล้านรายตามลำดับ ส่วนจำนวนยอดผู้ใช้รายใหม่สุทธิทั่วโลกเพิ่มขึ้นในไตรมาสเดียวจำนวน 120 ล้านราย โดยสัดส่วนการใช้งานสมาร์ทโฟนในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ 20% ในประเทศที่กำลังพัฒนา ไปจนถึงกว่า 60% ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและมีการนำเทคโนโลยีไอซีทีมาใช้ ทั้งนี้ อีริคสันคาดการณ์ว่า ในปี 2562 ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า โดยมีจำนวนมากกว่า 700 ล้านราย และจะมีจำนวนเกินกว่าครึ่งของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือทั้งหมดในโลก ซึ่งเมื่อปลายปีผ่านมาจำนวนของผู้ใช้งาน  4 จี (แอลทีอี) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านราย โดยกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วต่างให้ความสนใจ 4จี อาทิ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนานั้นเช่นไทยคาดว่า 4จี จะเข้ามามีบทบาทสำคัญภายในปี 2562 ซึ่งเมื่อมีการวางโครงข่ายมากขึ้น มองว่าผู้ใช้งาน 4จีจะอยู่ที่  230 ล้านราย โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของประชากรในภูมิภาคนี้ สำหรับปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมไอซีทีในภูมิภาคนี้ คือ ไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีอิทธิพลผลักดันการใช้งานแอพพลิเคชั่น สมาร์ทโฟน รวมถึงการใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก อีกทั้ง ราคาของสมาร์ทโฟนถูกลง ผู้บริโภคจำนวนมากเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในรายงานยังแสดงผลสปีดเทสต์ หรือการทดสอบความเร็วบนเครือข่ายโมบายต่าง ๆ โดยประเทศออสเตรเลียและสิงคโปร์ มีอัตราความเร็วเฉลี่ยที่ดีที่สุดในภูมิภาคราว 8-10 กิกะบิต และใช้ 4จี ส่วนไทยนั้นมีระดับความเร็วที่ราว 2 กิกะบิตเท่านั้น เพราะปริมาณดาต้าจะวิ่งอยู่บนโครงข่าย 3จี (เอชเอสพีเอ) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในรายงานอีริคสัน โมบิลิตี้ รีพอร์ต ยังพบว่าการใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกในไตรมาส  1/57 อยู่ที่ 6,800 ล้านราย เพิ่มขึ้น 120 ล้านราย คิดเป็น 7% ซึ่ง 5 ประเทศที่มีผู้ใช้เพิ่มสุทธิสูงสุดในไตรมาสนี้คืออินเดีย 28 ล้านราย, จีน 19 ล้านราย, อินโดนีเซีย 7 ล้านราย, ไทย 6 ล้านราย และ บังกลาเทศ 4 ล้านราย ส่วนยอดการใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกคาดว่าจะสูงถึง 9,200 ล้านราย ในปี 2562 และจะมีการใช้งานในแบบโมบายบรอดแบนด์มากกว่า 7,400 ล้านราย หรือ ประมาณ 80% ของยอดผู้ใช้ทั้งหมดทั่วโลก สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยครึ่งปีหลังจะยังคงต้องรอคอยความชัดเจนด้านนโยบายจากผู้มีอำนาจในประเทศและผู้กำกับดูแล เกี่ยวกับแผนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน  1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ โดยความเห็นส่วนตัว หากไม่สามารถประมูลได้ในช่วงเวลาที่เคยกำหนดไว้ จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ และประชาชนจะเสียโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยี และเสียโอกาสทางการแข่งขัน เพราะปัจจุบันการใช้งานดาต้าไม่ใช่แค่โซเชียลเน็ตเวิร์กแล้ว แต่เป็นการเล่นวิดีโอ คอนเทนต์หนัก ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าจำนวนเลขหมายที่มีการใช้งานบนสมาร์ทดีไวท์มีมากกว่า 92 ล้านราย เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า ในเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ในส่วนของผู้ให้บริการจะต้องหาโปรโมชั่นที่จำกัดในเรื่องของอัตราความเร็วเน็ต เนื่องจาก เมื่อไม่มีคลื่นความถี่ดังกล่าวมาให้บริการ แต่ปริมาณการใช้งานของลูกค้ามีความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้น จะส่งผลทราฟิก 3จี คลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ที่ผู้ให้บริการมีเพียงรายละ 15 เมกะเฮิรตซ์ มีความหนาแน่น ถึงคราวที่ผู้ให้บริการมือถือเบอร์ 1 อย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ต้องจัดสรรปันส่วนคลื่นให้เพียงพอต่อความต้องการลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ไทยติดอันดับโลกใช้งานมือถือ

Posts related