อินโดนีเซียเคยเป็นประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปก ส่งออกน้ำมันดิบไปขายต่างประ เทศ แต่ด้วยนโยบายประชานิยมด้านพลังงานที่รัฐบาลดำเนินการติดต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยการกำหนดราคาน้ำมันที่ขายในประเทศให้ต่ำกว่าราคาในตลาดโลก และรัฐบาลใช้เงินงบประมาณมาอุดหนุนราคาน้ำมัน ทำให้เกิดการใช้น้ำมันอย่างสิ้นเปลืองและไร้ประสิทธิภาพ จนทำให้อินโดนีเซียต้องกลายเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิ (net oil importer) เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) และต้องลาออกจากการเป็นประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกในที่สุด นอกจากนโยบายประชานิยมด้านพลังงานจะทำให้คนอินโดนีเซียใช้น้ำมันอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่มีประสิทธิภาพ จนทำให้ประเทศเปลี่ยนจากผู้ส่งออกพลังงานมาเป็นผู้นำเข้าพลังงานแล้ว นโยบายประชานิยมด้านพลังงาน (พลังงานราคาถูกและการอุดหนุนราคาพลัง งาน) ยังทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาลในการอุดหนุนราคาพลังงาน ทำให้เป็นภาระต่องบประมาณเป็นอย่างสูง จนเกิดปัญหาการขาดดุลทางการคลังเรื้อรัง ส่งผลถึงค่าเงินให้อ่อนค่าลง และกระทบถึงอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องคงไว้ในระดับสูงเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ และดึงเงินทุนให้ไหลเข้าประเทศ ในแต่ละปีรัฐบาลอินโดนีเซียต้องใช้เงินถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในการอุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งจะปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และค่าเงินของอินโดนีเซียที่มีค่าอ่อนลง โดยในปี ค.ศ. 2008 ภาระการอุดหนุนราคาน้ำมันของอินโดนีเซียมีมูลค่าสูงเท่ากับ 2.8% ของ GDP ซึ่งนับว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุด เพราะปีนั้นราคาน้ำมันโลกขึ้นไปสูงที่สุดถึง 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปัจจุบันอยู่ที่ 2.2% ของ GDP (ปีค.ศ. 2011) ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของนโยบายประชานิยมด้านพลังงานก็คือ การทำให้ประชาชนเสพติดการบริโภคพลังงานในราคาถูก อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลจะรับรู้ถึงปัญหาและอันตรายที่ประเทศชาติกำลังเผชิญหน้าอยู่เป็นอย่างดีก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะการปรับราคาพลังงานให้สูงขึ้นเพื่อลดภาระการอุดหนุน กลายเป็นเรื่องทางการเมือง และได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชน รัฐบาลอินโดนีเซียมีความพยายามที่จะปรับราคาน้ำมันหลายครั้ง โดยในปี ค.ศ. 1997 (หลังวิกฤติการณ์ทางการเงินในเอเชีย) รัฐบาลได้ประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิงขึ้นไป 25-71% แล้วแต่ชนิดของเชื้อเพลิง ปรากฏว่าถูกต่อต้านจากประชาชนสูงมากจนเกิดจลาจลไปทั่วประเทศ และนำมาซึ่งการโค่นล้มประธานา ธิบดีซูฮาร์โตในที่สุด ล่าสุดอินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการปรับราคาน้ำมันในประเทศหลังจากล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง โดยรัฐบาลของประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน สามารถปรับขึ้นราคาน้ำมันในประเทศได้ในอัตราเฉลี่ย 70-40% เพื่อลดเงินอุดหนุนจากรัฐบาล อันเป็นภาระหนักต่องบประมาณแผ่นดิน และทำให้อินโดนีเซียเกิดปัญหาภาวะการขาดดุลทางการคลังมาอย่างยาวนาน จนค่าเงินอ่อนค่าลงตลอดเวลา ทั้ง ๆที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก การขึ้นราคาน้ำมันอย่างรุนแรงและกะทันหันเพราะมีการตรึงราคาเอาไว้อย่างยาว นานและต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง จึงสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวอินโดนีเซียอย่างมาก ซึ่งคนไทยควรพึงสังวรณ์ไว้ให้จงหนักที่จะไม่ตกไปอยู่ภายใต้วังวนของนโยบายประชานิยมด้านพลังงานที่กำลังประโคมโหมกันอยู่ในขณะนี้ภายใต้คำพูดสวยหรูว่า “ปฏิรูปพลังงาน” ที่ไม่ยั่งยืน !!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : บทเรียนประชานิยม ด้านพลังงานจากอินโดนีเซีย – พลังงานรอบทิศ

Posts related