จากปลวกที่หลายคนเคยคิดว่าไร้ประโยชน์  แถมยังเป็นตัวร้ายทำลายบ้านไม้ได้เป็นหลัง ๆ ทำไมวันนี้ถึงกลายมาเป็นแหล่งที่มาของการสร้างพลังงานทดแทนในยามวิกฤติน้ำมันแพง  ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ชวเดช  อาจารย์และนักวิจัยวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า  เป็นไอเดียที่คิดมานานกว่า 10 ปี ที่อยากจะใช้ประโยชน์จากปลวก ซึ่งมีความสามารถในการย่อยสลายไม้เป็นอาหาร   เนื่องจากมีจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร เช่นเดียวกับสัตว์เคี้ยวเอื้องต่าง ๆ แบคทีเรียเหล่านี้จะทำหน้าที่ย่อยสารเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลสให้เป็นน้ำตาล  ก่อนที่ปลวกจะนำไปใช้ในการดำรงชีวิต ปัจจุบันทั่วโลกประสบปัญหาวิกฤติพลังงานจากน้ำมัน  จึงต้องมองหาพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ  ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจำนวนมากเช่น ซังข้าวโพด ชานอ้อย ฟางข้าว ที่ล้วนแต่เป็นชีวมวล ที่มีเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลสเป็นส่วนประกอบหลัก  และปลวกก็มีความสามารถย่อยสลายเซลลูโลสได้เป็นอย่างดี ทีมวิจัยจึงทำการศึกษาแบคทีเรียในปลวก  และคัดแยกได้ 3 สายพันธุ์ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยเซลลูโลสเป็นน้ำตาล  โดยเป็นแบคทีเรียได้มาจากปลวกป่าที่ นำมาจากสวนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐมนำมาเพาะเลี้ยงและทดลองย่อยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่าง ๆ ทั้งชานอ้อย ซังข้าวโพด กากมันสำปะหลังและฟางข้าว  พบว่าแบคทีเรียที่คัดแยกได้สามารถย่อยเซลลูโลสได้สูงถึง 70%  ภายในเวลา 12 ชั่วโมง นักวิจัยบอกว่า แต่เนื่องจากแบคทีเรียสายพันธุ์ที่ค้นพบอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และไม่สะดวกในการเพาะเลี้ยง ล่าสุด ทีมวิจัยได้ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งอีโคไล    ซึ่งเป็นแบคทีเรียในลำไส้มนุษย์ และนำยีนเด่นของแบคทีเรียจากปลวกป่าสายพันธุ์ไมโครซิโรเทอม ที่คัดเลือกไว้มาใส่ในแบคทีเรียอีโคไล  ทำให้อีโคไลที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมมีความปลอดภัยมากขึ้น  ง่ายต่อการเพาะเลี้ยงขยายจำนวนได้ตามต้องการ   แถมเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลายเซลลูโลสได้มากกว่าเดิมอีก 18 เท่า อย่างไรก็ดีการย่อยเซลลูโลสให้ได้ดีที่สุด  แบคทีเรียจะต้องสร้างน้ำย่อยได้ครบถึง  3 ชนิด ทำให้ขณะนี้ทีมวิจัยต้องทำโคลนนิ่งแบคทีเรียอีกหลายตัว  เพื่อให้สามารถผลิตน้ำย่อยเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลส จนครบทุกตัว ซึ่งอนาคตสามารถจะนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้งานจริง ในการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เป็นน้ำตาล  ก่อนนำไปผลิตเป็นเอทา นอลด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน   เรียกว่าจากปลวกที่เคยไร้ค่า เปลี่ยนมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของไทย ลดการใช้สารเคมีในการผลิตเอทานอลแถมยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย.  นาตยา คชินทร nattayap.k@hotmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : พลังงานทดแทนจากปลวก – ฉลาดคิด

Posts related