เรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากในเวทีต่าง ๆ ที่เสวนาเกี่ยวกับเรื่องพลังงานก็คือ ประเทศไทยมีแหล่งสำรองปิโตรเลียมมากน้อยขนาดไหน บางคนก็บอกว่ามีมากติดอันดับโลก บางคนก็บอกว่ามีน้อยใช้อย่างนี้อีกไม่กี่ปีก็หมด สำหรับผมจะไม่บอกว่ามีมากหรือน้อยหรอกครับ แต่ขอให้ข้อคิดเอาไว้ว่า ไม่ว่าเราจะมีมากหรือน้อย แต่ที่แน่ ๆ คือตอนนี้เราผลิตพลังงานได้เองไม่พอใช้ ต้องนำเข้าในปริมาณมากทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ถ้าเรามีแหล่งพลังงานมากอย่างที่ว่ากันจริง ๆ วันนี้ชาติมหาอำนาจหรือบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ข้ามชาติจะต้องแห่เข้ามาลงทุนด้านธุรกิจสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในบ้านเรากันอย่างมากมาย ไม่ใช่มีแค่หนึ่งหรือสองบริษัทอย่างทุกวันนี้ และจนถึงวันนี้ เราได้เปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศมาเป็นเวลาร่วม 50 ปีแล้ว มีการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมมาแล้ว 20 รอบ และกำลังจะเปิดรอบที่ 21 เร็ว ๆ นี้ ถ้าเรามีแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่จริง ๆ ก็น่าจะมีการค้นพบกันไปนานแล้ว เรื่องปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พูดกันอยู่ในบ้านเรานี่ทำเอาคนไทยสับสนกันมากนะครับ เพราะเอาคำว่า Recoverable Resources ซึ่งหมายความถึงทรัพยากรที่คาดว่าจะค้นพบได้ มาปนกับคำว่า Petroleum Reserve ซึ่งหมายถึงปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่มีการสำรวจค้นพบและพิสูจน์แล้ว แล้วเอาไปพูดทำให้คนเข้าใจผิดไขว้เขวกันไปหมด ในทางวิชาการ ความหมายของปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่มีการสำรวจและค้นพบแล้วยังแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ 1. Proved Reserve (P1) คือ ปริมาณสำรองที่สำรวจและพิสูจน์แล้ว มีความเชื่อมั่น 85-90% ว่ามีแน่นอนตามที่ได้ประเมินเอาไว้ ซึ่งตัวเลขนี้เมื่อประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย รวมทั้งสำนักงานการบัญชี ผู้ตรวจสอบ และสถาบันทางการเงิน ยอมให้ประเมินเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน (Asset) ของบริษัท 2. Probable Reserve (P2) คือ ปริมาณสำรองที่ยังไม่ได้พิสูจน์ แต่ผู้สำรวจมีความเชื่อมั่น 50% ว่ามีแน่ตามที่ประเมินเอาไว้ ซึ่งเอาไปใช้ประเมินเป็นทรัพย์สินไม่ได้ แต่ยังสามารถเอาไปใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ได้ 3. Possible Reserve (P3) คือ ปริมาณสำรองที่ผู้สำรวจมีความเชื่อมั่นพียง 15% ว่ามีแน่ ถือว่ามีการสำรวจแล้ว มีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่าได้ค้นพบแหล่งปิโตร เลียมแล้ว แต่ไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันใด ๆ ทางการเงินได้ จะเห็นได้ว่าแม้แต่ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่สำรวจและค้นพบแล้ว ยังมีการแบ่งแยกออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามความไม่แน่นอนในผลของการสำรวจ ซึ่งนี่ก็คือความเสี่ยงในการทำธุรกิจสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงนั่นเอง ดังนั้น ต่อไปนี้เวลาได้ยินใครพูดว่าประเทศไทยมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมเยอะ อย่าลืมถามเขาด้วยนะครับ ว่าเขาพูดถึงอะไร P1, P2 หรือ P3!!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทย – พลังงานรอบทิศ

Posts related