วงการเกมของเมืองไทยในปี 57 มีอะไรที่น่าจับตาอยู่ไม่น้อยหลังจากที่โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนได้รับความนิยมอย่างมากจากคนไทย ส่งผลให้ “แอพพลิเคชั่นเกม” หรือ เกมบนโทรศัพท์มือถือ มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ  เนื่องจากปัจจุบันผู้ให้บริการเกมออนไลน์ในไทยทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ต่างให้ความสนใจรวมถึงประกาศที่จะโดดลงเล่นในตลาดเกมบนโทรศัพท์มือถือ ด้วยการนำเสนอเกมที่พัฒนาขึ้นเอง หรือร่วมกับพาร์ตเนอร์พัฒนาขึ้นให้มีเนื้อหาเหมาะสมกับตลาดในเมืองไทย ซึ่งเชื่อว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จได้ โดยผู้นำตลาดเกมออนไลน์ในไทย “ยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่ง” อย่าง บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ได้ใส่เกียร์เดินหน้าลุยตลาดเกมบนโทรศัพท์มือถือ ด้วยการส่งเกมในตำนาน คือ “แรคนาร็อค ออนไลน์ โมบาย” ในเวอร์ชั่นมือถือ ลงตลาดในช่วงต้นเดือน ม.ค. 57 นี้ โดยรองรับทั้งะบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และไอโอเอส ซึ่งเกมนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในต่างประเทศทั้งเกาหลีใต้ ไต้หวัน และในทวีปอเมริกาเหนือ มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 2.5 ล้านครั้ง   นอกจากนี้ทางเอเชียซอฟท์ยังมีแผนเปิดเกมบนมือถืออีกไม่ต่ำกว่า 4-5 เกมในปี 57 และยังคาดหวังว่า เกมบนโทรศัพท์มือถือจะเป็นช่องทางใหม่ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับบริษัท โดยเฉพาะเกม แรคนาร็อค ออนไลน์ โมบาย นั้น คาดหวังว่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10-15 ล้านบาท เลยทีเดียว  อย่างไรก็ตามนอกจากทาง บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แล้ว ผู้ให้บริการายอื่น ๆ ก็ให้ความสนใจในตลาดนี้เช่นเดียวกัน โดยทาง บริษัท ทรู ดิจิตอล พลัส จำกัด ผู้ให้บริการเกมออนไลน์อันดับต้น ๆ ในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ก็ประกาศรุกตลาด “โมบาย โซเชียล เกม” อย่างเต็มที่ โดยได้คาดการณ์ว่าจากยอดขายแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนของไทยในปี 2556 ซึ่งรวมกันมีสูงถึง 30 ล้านเครื่อง จะส่งผลให้มีผู้เล่นเกมออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึง 45% และแอพพลิเคชั่นเกมจะมีสัดส่วนการดาวน์โหลดสูงสุดอยู่ที่ 37%  มากกว่าการดาวน์โหลดเพลงที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 19% เท่านั้น!! บริษัท ทรู ดิจิตอล พลัส จำกัด ได้เตรียมงบประมาณสูงถึง 60 ล้านบาท เพื่อลงทุนใน “โมบาย โซเชียล เกม”  พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทผู้พัฒนาเกมทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำเกมที่มีคุณภาพและหลากหลายมาเปิดให้บริการในไทยตั้งแต่ปี 56 โดยมีเกมที่เปิดให้บริการแล้ว อาทิ  สเปเชียล  ฟอร์ซ เน็ต (Special Force Net), กัน แอนด์ เบลด (Gun N’ Blade) และฮีโร่ พัสเซิล (Hero Puzzle)  และส่วนในปี 57 มีแผนเปิดตัวเกมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มุมมองของผู้คลุกคลีอยู่กับตลาดเกมของไทย อย่าง นายปรีชา ไพรภัทรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มอล แอ็คเซสพอร์ทัล จำกัด  ผู้ดำเนินธุรกิจบัตรเติมเงินเกมออนไลน์ และเกมบนเฟซบุ๊ก กล่าวว่า แนวโน้มตลาดเกมของไทยในปี 57 เชื่อว่าจะเป็นตลาดของเกมบนโทรศัพท์มือถือที่มีโอกาสจะเติบโตเพิ่มมากขึ้นกว่าเกมประเภทอื่น ๆ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการเปิดให้บริการเครือข่าย 3 จี  ของผู้ให้บริการค่ายต่าง ๆ ส่งผลให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ประกอบกับสมาร์ทโฟนมีราคาถูกลงมาก  เช่น สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์มีเงินเพียง 2,000-3,000 บาท ก็สามารถหาซื้อได้แล้ว  ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยบวกให้กับตลาดเกมบนโทรศัพท์มือถือทั้งนั้น   “ที่ผ่านมาตลาดเกมบนโทรศัพท์มือถือยังไม่มีตัวเลขมูลค่าอย่างเป็นทางการ เพราะยังไม่มีใครทำการเก็บตัวเลขอย่างจริงจังแต่โดยส่วนตัวคิดว่าในปี 56 ตลาดเกมบนโทรศัพท์มือถือของไทยจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ขณะที่ในปี  57 นี้ เชื่อว่าจะเติบโตขึ้นไปถึง 1,000 ล้านบาทได้” นายปรีชา กล่าว  อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะทำเกมบนโทรศัพท์มือถือประสบความสำเร็จในตลาดได้นั้น ผู้บริหารของมอลฯ มองว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเกมที่มีคนเล่นจำนวนมากก็ได้ เพราะอย่างเกมแบบพัซเซิ่ล ที่มีคนเล่นจำนวนมากแต่มีอัตราการจ่ายเงินซื้อไอเท็มหรือของในเกมน้อย แต่ควรจะพัฒนาหรือนำเกมที่ทำให้คนเล่นยอมจ่ายเงินในอัตราที่สูงได้ โดยที่จำนวนผู้เล่นเกมอาจมีจำนวนไม่มากก็ได้ จากแนวโน้มการเติบโตของเกมบนโทรศัพท์มือถือนอกจากจะทำให้ค่ายเกมออนไลน์หลาย ๆ ค่ายต้องหันมาเล่นในตลาดนี้แล้ว ยังมีค่ายเกมใหม่ ๆ เกิดขึ้นในตลาดด้วย อย่างเช่น บริษัท ซีเอ็มทีไทย จำกัด ซึ่งเป็นค่ายเกมที่เปิดตัวขึ้นเพื่อให้บริการเกมบนโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว นายตนัย ไตรทิพยพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็มทีไทย จำกัด  กล่าวว่า จุดเริ่มต้นการตั้งบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจเกมบนโทรศัพท์มือถือในไทยนั้น มาจากที่รู้จักกับทางทีมงานจากเกาหลีใต้ที่เคยทำธุรกิจเกมออนไลน์ด้วยกัน  ซึ่งได้เล็งเห็นโอกาสในธุรกิจเกมบนโทรศัพท์มือถือ จากที่ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคคอนเทนต์ผ่านมือถือโตขึ้นอย่างมาก จึงร่วมกับพาร์ตเนอร์จากเกาหลีใต้ ตั้งบริษัทเมื่อเดือน มี.ค. 56 จากนั้นในช่วงกลางปีก็ได้บริษัท เกมวิว (Gamevil) ที่เป็นผู้พัฒนาคอนเทนต์เกี่ยวกับเกมชื่อดังจากเกาหลี ใต้ เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์เพิ่ม และได้นำเกมบนโทรศัพท์มือถือของเกมวิวมาเปิดให้บริการเป็นเกมแรก คือ “เกมสตีล คอมมานเดอร์” ซึ่งรองรับทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส และแอนดรอยด์ ในกลางเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา   “การบริโภคคอนเทนต์ผ่านโมบาย ดีไวซ์มีอัตราการเติบโตมากกว่า 100% และปัจจุบันคนมากกว่า 60% ก็เช็กอีเมลผ่านโทรศัพท์มือถือ ประกอบกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ก็มีราคาถูกลง โดยเฉพาะแอนดรอยด์ ไม่เพียงยี่ห้อดัง ๆ เท่านั้น เครื่องจากจีนที่มีคุณภาพพอใช้ก็เข้ามาในตลาดจำนวนมาก ทำให้คนเป็นเจ้าของอุปกรณ์เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น”  ตลาดเกมบนโทรศัพท์มือถือยังถือเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีโอกาสทางธุรกิจ แม้ว่าในปี 56 หลาย ๆ บริษัทประกาศจะเริ่มให้บริการเกมบนโทรศัพท์มือถือ  ซึ่งทางกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็มทีไทย จำกัด มองว่า ถึงแม้ในปี 57 จะถือเป็นปีของเกมบนโทรศัพท์มือถือ แต่เชื่อว่าตลาดยังคงไม่ได้แข่งกันรุนแรงมากนัก แม้ว่าจะมีผู้เล่นรายใหญ่ ๆเข้ามาในตลาด จนกว่าบริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้จะทุ่มงบประมาณการทำตลาดจำนวนมาก เมื่อถึงเวลานั้นตลาดจะแข่งขันกันดุเดือดมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับช่องทางการหารายได้ของเกมบนโทรศัพท์มือถือจะมีลักษณะคล้าย ๆ เกมออนไลน์ ที่เปิดให้เล่นฟรีขายไอเท็มในเกม ขณะที่เกมบนโทรศัพท์มือถือจะมีทั้งแบบเสียเงินในการดาวน์โหลด และดาวน์โหลดฟรีเล่นฟรีแล้วให้ผู้เล่นเติมเงินหรือเหรียญในเกมเพื่อซื้อไอเท็มให้เล่นเก่งขึ้น   นายตนัย ไตรทิพยพงษ์ กล่าวต่อว่า การประสบความสำเร็จในตลาดนั้น มองว่าเกมทุก ๆ แนวมีโอกาสหมด เนื่องจากเกมทุกแนวก็จะมีกลุ่มลูกค้าของตนเองอยู่แล้ว สำหรับแผนของบริษัทหลังจากได้เริ่มเปิดให้บริการ “เกมสตีล คอมมานเดอร์” แล้ว ในปี 57 ก็มีแผนเตรียมนำเกมบนโทรศัพท์มือถือเข้ามาเปิดให้บริการเพิ่มอีกอย่างน้อย 12 เกม โดยจะมีเกมทุกแนว จับกลุ่มผู้เล่นตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน  แผนการทำตลาดจะเน้นแบบชาวบ้านคือ เข้าไปทุกที่ที่มีกลุ่มลูกค้าอยู่ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทั่วถึง  ทั้งนี้การมาของเกมบนโทรศัพท์มือถือมีการมองกันว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดเกมออนไลน์นั้น ในส่วนนี้ นายตนัย กล่าวว่า ตลาดเกมบนโทรศัพท์มือถือ คงไม่ได้มากินส่วนแบ่งของตลาดเกมออนไลน์ เพราะถือว่าตลาดยังมีช่องว่างอยู่และจะทำให้ตลาดกว้างขึ้น ซึ่งเกมบนโทรศัพท์มือถือจะถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ชอบเล่นเกม  ขณะที่เกมออนไลน์ก็จะมีฐานผู้เล่นประจำอยู่ที่ชอบเล่นผ่านคอมพิวเตอร์พีซี  เช่น เกมแรคนาร็อค  ที่เป็นเกมออนไลน์แรก ๆ ของไทยซึ่งเป็นกลุ่มที่เล่นมานานตั้งแต่เด็กจนปัจจุบันส่วนใหญ่ขยับเข้าสู่วัยทำงานแล้ว ซึ่งก็อาจจะหันมาทดลองเล่นเกมบนโทรศัพท์มือถือบ้าง แต่โดยหลัก ๆ แล้วยังคงเล่นเกมผ่านคอมพิวเตอร์อยู่เพราะได้อารมณ์ที่ภาพและเสียงสมบูรณ์กว่าจากจอภาพและลำโพงที่ใหญ่กว่า สอดคล้องกับนายปรีชา ไพรภัทรกุล ที่มองว่า ตลาดเกมออนไลน์ที่คาดว่าในปี 56 มีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท คงไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าในปี 57 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านบาท เพราะมีกลุ่มผู้เล่นประจำอยู่แล้วและเล่นอย่างจริงจัง ขณะที่เกมบนโทรศัพท์มือถือจะเป็นกลุ่มคนเล่นเกมเพื่อพักผ่อน หรือเล่นเพื่อนฆ่าเวลาระหว่างเดินทางหรืออยู่นอกบ้าน ซึ่งในอนาคตหากผู้ให้บริการเกมออนไลน์ สามารถเพิ่มการให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเป็นการเล่นบนเซิร์ฟเวอร์หรือฐานข้อมูลเดียวกันของเกม จะทำให้ผู้เล่นมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยหากอยู่บ้านก็เล่นผ่านคอมพิวเตอร์ เมื่อออกมาอยู่นอกบ้านแล้วมีเวลาต้องการจะเล่นก็สามารถเล่นผ่านโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนได้ทันที   ถือเป็นแนวโน้มที่ต้องจับตาดูในปี 57 สำหรับตลาดเกมในเมืองไทยที่อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการในวงการเกมต้องปรับแผนธุรกิจเพื่อให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะปัจจุบันโทรศัพท์มือถือกลายเป็นอุปกรณ์ติดตัวที่ทุกคนขาดไม่ได้แล้ว.  จิราวัฒน์ จารุพันธ์ JirawatJ@dailynews.co.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ปี 57 กูรูฟันธงเกมบนมือถือมาแรงสุด!!

Posts related