สารพันเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยตลอดปี 56 ไล่มาตั้งแต่โครงการประชานิยมรัฐบาล ปัญหาปากท้อง มาจนถึงม็อบมวลมหาประชาชนขับไล่รัฐบาลช่วงปลายปี หลายสิ่งหลายอย่างได้ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของรายได้ หนี้สิน และปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ส่วนใหญ่ยังบ่นกันเสียงขรมว่า เศรษฐกิจไม่ดี ข้าวของแพง ขายของไม่ได้ ดังนั้นเมื่อปีเก่าผ่านพ้นไปแล้ว มาเริ่มต้นปีใหม่ ทุกคนตั้งความหวังว่า อย่างน้อย…ขอให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิมก็ยังดี  ดังนั้นเพื่อให้สะท้อนถึงความต้องการของชาวบ้านที่เป็นกลุ่มรากหญ้าอย่างแท้จริง ทีมเศรษฐกิจ “เดลินิวส์” จึงได้รวบรวมเสียงเล็ก ๆ ของประชาชนหลากหลายอาชีพมาให้ทราบกันว่า เมื่อถึงช่วงปีใหม่แล้ว พวกเขาเหล่านี้อยากให้มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจประเทศไทยบ้าง  แม่ค้าต้องการ “คนดี” เริ่มต้นจาก “ป้าอุไร จารุกานนท์” แม่ค้าขายผลไม้วัยเกษียณย่านบางขุนพรหม บอกว่า ปีใหม่นี้ไม่ได้คาดหวังอะไรกับเรื่องเศรษฐกิจ หรือรายได้มาก เพราะอาชีพค้าขายเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงกับรายได้ที่ไม่คงที่อยู่แล้ว บางวันได้น้อยได้มาก แต่ก็หวังลึก ๆ ว่า หากเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น คนไม่เป็นหนี้อะไรเพิ่มขึ้น คงมีกำลังออกมาจับจ่าย ส่วนนโยบายรัฐบาล ก็ไม่อยากขออะไรมาก แค่ต้องการให้มีคนดีจริงเข้ามาบริหารประเทศ ดูแลปัญหาปากท้อง และรายได้ให้ชาวบ้านไม่ต้องเดือดร้อนกว่าที่เป็นอยู่ก็คงพอ ส่วนเศรษฐกิจปี 56 ดูเหมือนไม่ค่อยดี เพราะคนจับจ่ายซื้อของกันน้อย ส่วนต้นทุนค่าผลไม้หลากหลายชนิดที่นำมาปอกใส่ถุงขาย ก็ปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนมากเกือบเท่าตัว เช่น ฝรั่ง ราคาเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีจากกิโลกรัมละ 25 บาท เพิ่มเป็น 35 บาท มันเทศที่นำมาต้ม ถุงละ 10 กิโลกรัม ราคาเพิ่มจาก 180 บาท มาเป็น 230 บาท ทำให้ตอนนี้ขายของได้น้อยลง เพราะซื้อของมามากไม่ได้ จึงส่งผลให้รายได้แต่ละวันลดลง และนอก จากราคาผลไม้จะขึ้นแล้ว แก๊สหุงต้มก็ปรับขึ้นราคามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรได้ เพราะต้องขายของหาเลี้ยงชีพ ถึงแม้ต้นทุนเพิ่มขึ้นขายได้น้อยก็ต้องขาย  สามล้อขอดูแลค่าครองชีพ “มนชัย วิมานทอง” ผู้ขับรถสามล้อรับจ้างชาวจังหวัดร้อยเอ็ด บอกว่า นักท่องเที่ยวหายไปเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติ ไม่เหมือนช่วง 2-3 ปีก่อนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากที่เรียกให้ไปส่งที่ถนนข้าวสาร แต่ตอนนี้ไม่เห็นมีเหมือนก่อน โดยไม่รู้สาเหตุเหมือนกันว่าหายไปไหน สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น จึงทำให้รายได้หายไปบ้าง แต่ก็ยังดีที่มีลูกค้าประจำที่เรียกใช้บริการอยู่ ส่วนรายได้ก็ยังคงที่ไม่เพิ่มขึ้น แต่ละวันได้เงินประมาณ 1,000–1,200 บาท แต่หักค่าน้ำมัน ค่าเช่า ค่ากับข้าวที่ซื้อกลับเข้าบ้านก็เหลือเพียง 200-300 บาทเท่านั้น  “มนชัย” ยังบอกด้วยว่า ปัญหาทางการเมืองที่มีกลุ่มมาชุมนุมกันในตอนนี้ แม้ว่าจะทำให้มีรายได้อยู่บ้าง แต่ไม่ใช่มากมาย เพราะต้องขับรถหลีกหนีบริเวณชุมนุม ทำให้ต้นทุนค่าแก๊สเพิ่มขึ้น คิดราคาสูงมากก็ไม่ได้ เพราะผู้โดยสารที่เรียกใช้บริการก็จ่ายเงินในราคาเดิม ส่วนเรื่องที่อยากให้เกิดขึ้นในปีหน้าสำหรับเหล่าผู้มีอาชีพขับรถรับจ้างสาธารณะก็คือ การให้ภาครัฐช่วยอุดหนุนต้นทุนค่าแก๊ส หรือเป็นไปได้ก็อยากให้ขึ้นราคาแก๊สปีละไม่เกิน 2 ครั้งก็พอ แต่จะทำได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะทุกวันพอมีรายได้เลี้ยงชีพอยู่บ้าง แม้ว่าไม่ได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ที่สำคัญที่สุดคือรัฐบาลที่เข้ามาต้องดูแลค่าครองชีพให้กับคนไทยด้วย รัฐบาลต้องช่วยรากหญ้าจริง ๆ “จารุวรรณ แย้มกลีบบัว” เจ้าของร้านขายหนังสือย่านสามเสน เสนอว่า อยากให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ ทำนโยบายอะไรให้ดูความต้องการของประชาชนที่เป็นรากหญ้าจริง ๆ ด้วย ไม่ใช่เอาภาษีไปใช้ในทางที่ไม่ถูก อยากให้มาดูชีวิตประจำวันของประชาชนที่ประกอบอาชีพกันจริง ๆ ว่า เดือดร้อนเรื่องอะไร ช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ และอยากให้นโยบายเดิมดี ๆ ที่หลายรัฐบาลทำไว้ยังคงมีอยู่ เช่น มาตรการรถเมล์ฟรี นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดีที่ช่วยเหลือด้านการเดินทางของประชาชนที่มีรายได้น้อย แต่ก็ต้องปรับปรุงเรื่องของบริการใหม่ โดยเฉพาะพนักงานขับรถ และกระเป๋ารถเมล์ให้เป็นมิตร และคอยดูแลผู้โดยสารมากขึ้น ส่วนเรื่องของรายได้ประจำวันก็อยากให้ช่วยดูมาตรการที่เหมาะสมที่จะเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มกำลังซื้อของคนจริง ๆ เพราะตอนนี้คนไม่กล้าใช้จ่ายเงิน เห็นได้จากคนที่มาซื้อหนังสือที่ร้านตอนนี้เหลือน้อยลงทุกวัน และไม่ค่อยมีคนอ่านหนังสือมากเหมือนสมัยก่อนแล้ว     หวังรัฐบาลใหม่ไม่ทุจริต ด้าน “ปิยวัตร ภูมิยิ่งยง” พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง บอกว่า สิ่งที่คาดหวังจากรัฐบาลใหม่ในแง่ของเศรษฐกิจ อันดับแรกคือการเลือกตั้งใหม่ที่ใสสะอาด ยอมรับได้ทุกฝ่าย ปัญหาความขัดแย้งถูกแก้ไขไปได้ก็จะดีที่สุด ส่วนเรื่องเศรษฐกิจหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ออกโครงการที่ดีเป็นประโยชน์ ส่วนนโยบายอะไรที่ดีอยู่แล้วก็น่าจะสานต่อและพัฒนาขึ้นไปเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ อยากให้คนที่มาเป็นรัฐบาลไม่ทุจริตในโครงการลงทุนทุกอย่างด้วย นอกจากนี้ยังหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่ช่วยสร้างโอกาสให้แก่ประชาชน โดยออกโครงการที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่านี้เพื่อสร้างโอกาสในการทำมาหากินให้กับประชาชนที่มีทุนน้อยหรือไม่มีทุนเพื่อจะได้ไม่ต้องไปเป็นหนี้นอกระบบ วอนรัฐแก้ปัญหาให้ตรงจุด ปิดท้ายที่ “ปราณี บุญหล้า” พนักงานฝ่ายประสานงานของโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร บอกว่า ตามนโยบายของรัฐบาลของนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่ได้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศนั้น ก็ไม่ได้ช่วยให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีเงินเพิ่มเพื่อไปจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซ้ำยังเจอกับข้าวของขึ้นราคา ขณะที่ผู้ที่จบปริญญาตรีหลายคนก็ไม่ได้รับเงินเดือนถึง 15,000 บาท จึงอยากให้รัฐบาลที่จะมาใหม่มองดูปัญหาให้ชัด และแก้ปัญหาให้ได้ตรงจุด ขณะที่นโยบายอื่นที่อยากให้มีคือ การให้ความสำคัญกับคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือคนไม่มีบ้าน แก้ปัญหาชุมชนแออัด แรงงานต่างชาติ เพื่อไม่ให้มาเป็นปัญหาสังคมในภายหลัง เสียงที่ว่ามาข้างต้นคงเป็นเพียงเสียงของประชาชนบางอาชีพ ที่สะท้อนออกมาแล้วว่า ใครก็ตามที่จะเข้ามาบริหารประเทศจากนี้จำต้องรู้ว่า ความต้องการของประชาชนรากหญ้าที่แท้จริงต้องการอะไร   ท้ายที่สุดนี้ได้แต่หวังว่า…เสียงสะท้อนจากประชาชนคนไทยตัวจริงเสียงจริงนี้ คงสะกิดเตือนต่อมความรู้สึกของรัฐบาลชุดใหม่กันบ้าง!. วสวัตติ์ โอดทวี

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : รัฐบาลใหม่ที่คนไทยอยากได้ ผลสุดท้าย…เป็นจริงหรือแค่ฝัน!

Posts related