ปีเก่ากำลังจะผ่านพ้น…ปีใหม่ก้าวเข้ามา แต่เชื่อได้ว่า ณ เวลานี้ คนไทยทั้งประเทศ ต่างมีคำถามว่า สุดท้ายแล้วทางออกของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?   เพราะตลอด 3 เดือนสุดท้ายของปี 56 คนไทยทั้งประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติทางการเมืองที่เปรียบเหมือนพายุลูกใหญ่ที่ฉุดกระชากให้เศรษฐกิจไทยดิ่งจมเหวไปทุกวัน จนบรรดาสำนักวิจัย บรรดากูรู ต้องออกมาปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยกันหลายรอบ สุดท้าย !!!ต่างฟันธงว่าต่ำกว่า 3% แน่นอน ด้วยเพราะเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นกำลังยืดเยื้อ…จากจุดเริ่มต้นเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กลายเป็นการชุมนุมเรียกร้องขับไล่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่อยไปจนถึงการล้มล้างระบอบ “ทักษิณ” จนกระทั่งการเรียกร้องให้ “ปฏิรูปประเทศ”  แม้หลายฝ่ายเห็นพ้องกับการปฏิรูปประเทศ และรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เสนอให้มีการจัดตั้งสภาปฏิรูปขึ้นควบคู่ไปกับการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 แต่ฝั่งตรงกันข้ามยังไม่เห็นด้วยเพราะเป้าหมายคือต้องการให้นายกฯ “ลาออก” จนถึงเวลานี้…ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า หนทางแห่ง “ความสงบ” ของประเทศคือเมื่อใด   ที่สำคัญแม้ว่าการเลือกตั้งจะสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ใคร? จะการันตีได้ว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะสามารถเกิดขึ้นได้ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถประกาศรายชื่อผู้ได้รับการเลือกตั้ง หรืออาจมีสารพัดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาเกิดขึ้นก็ได้ คำตอบนี้…ยังเป็นสถานการณ์ที่คนไทยทุกคนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นนั่นหมายความว่าประเทศจะเกิดภาวะ ’สุญญากาศ“ ที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ! แม้ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีมะเมียมีโอกาสพุ่งทะยานไปถึง 5% ได้ทีเดียว แต่มีเงื่อนไขว่า เศรษฐกิจโลกต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่า  3.5% หลังจากที่ขยายตัวต่ำสุดที่ 2.9% ในปี 56, การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ต้องทำให้ได้รวมกันแล้ว 226,522 ล้านบาท นอกจากนี้การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 ต้องไม่ต่ำกว่าเป้าหมาย 80%, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 57 ไม่สูงกว่า 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และที่สำคัญ…ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไม่มีความรุนแรงจนเกิดผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน แต่โอกาสที่ว่าคงไม่มีให้เห็นแน่นอน! เพราะตลอดทั้งปี 56 เศรษฐกิจไทยก็แทบเอาตัวไม่รอด เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจดับสนิท ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่เชื่อกันว่าจะติดลบแน่นอน หรือแม้แต่การบริโภค การลงทุน หรือการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ขยายตัวต่ำมากจนไม่สามารถช่วยดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่คาดฝัน แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยเหตุการณ์ทางการเมือง ที่แม้เวลานี้ตัวเลขของผลกระทบจากการเมืองจริง ๆ ยังไม่มีใครสรุปได้ชัดเจน แต่เบื้องต้นก็คาดการณ์กันไว้ว่าจะทำให้สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 30,000-50,000 ล้านบาท แต่ถ้าเหตุการณ์ยังยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 57 ความเสียหายจะทวีคูณเพิ่มขึ้นไปถึงเกือบ 2 แสนล้านบาททีเดียว ขณะที่ในปี 57 นี้มีการคาดหวังกันไว้ก่อนหน้านี้ว่าเรื่องของ “การลงทุน” และ “การส่งออก” จะเข้ามาเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ฉุดให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้แทนการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากโครงการบริหารจัดการน้ำและโครงการ 2 ล้านล้านบาท รวมไปถึงการที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้นน่าจะทำให้การค้าการขยายการส่งออกดีขึ้นไปด้วย เมื่อการส่งออกดีก็จะทำให้ภาคการผลิตขยายตัวได้ ทำให้เอกชนหันมาลงทุนมากขึ้น รวมไปถึงการประมูลทีวีดิจิทัลที่กำหนดราคาประมูลไว้ที่ 15,190 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.7% ของการลงทุนภาคเอกชนทั้งปี และการลงทุนเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี  ด้วยเหตุนี้การลงทุนโดยรวมน่าจะเติบโตได้ถึง 7.1% เมื่อเทียบกับปี  56 ที่ขยายตัวได้เพียง 0.9%  ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคที่เชื่อว่าจะดีขึ้นโดยอยู่ที่ระดับ 2.9% เพราะยังมีข้อจำกัดในเรื่องของรายได้เกษตรกรที่มองว่าราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังไม่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ครัวเรือนยังมีหนี้สินแต่สถาบันการเงินกลับระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ รวมไปถึงการที่ก่อนหน้านี้เรื่องของรถยนต์คันแรกที่ทำยอดขายได้จำนวนมหาศาลถึง 1.2 ล้านคันนั้น ได้ทำให้มีแรงต้านจากฐานการขยายตัวที่สูง ส่วนเครื่องยนต์หลักอย่างการส่งออก น่าจะเติบโตได้มากถึง 7%  เพราะเศรษฐกิจโลกสามารถขยายตัวได้ดีขึ้น รวมไปถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนการส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวซึ่งทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวได้ 7%  แต่จากเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น คงไม่สามารถทำให้การคาดหวังเหล่านี้เป็นจริงไปได้ เพราะไม่รู้ว่าในปี 57 นี้จะมีรัฐบาลเกิดขึ้นหรือไม่และหากเกิดขึ้นได้ก็ต้องใช้เวลาเพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาล จากนั้นต้องใช้เวลาอีกเพื่อหามาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้มีผลใช้ได้จริง ๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเชื่อได้ว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกจะหยุดนิ่งหยุดสนิทไม่เคลื่อนที่  เมื่อเป็นเช่นนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ดับสนิทตลอดปี 56 ก็ยังไม่สามารถจุดได้ติดและส่งผลต่อเนื่องต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกของปี 57 ที่อาจชะลอตัวอย่างรุนแรง และมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยก็เป็นไปได้ ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ได้ทำให้หลายค่ายหลายสำนักต่างออกมาปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจกันใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลังที่เชื่อว่าเศรษฐกิจในปีมะเมียนี้เติบโตได้เพียง 4% เท่านั้น จากเดิมที่มองว่ามีโอกาสขยายตัวได้ถึง 5.1% แต่มีเงื่อนไขเช่นกันว่า ต้องมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 และจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ  พร้อมทั้งต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้ประมาณ 30% แต่หากเป็นไปไม่ได้ เพราะการเมืองยืดเยื้อจะทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทยลดลง 3 แสนคน ส่วนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทำได้เพียง 10% นั่นเท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 3.5% เท่านั้น หากร้ายไปกว่านั้น…การเมืองไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น มีการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น มีคนได้รับบาดเจ็บมากขึ้น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตต่ำกว่า 3% ก็เป็นไปได้ แม้ว่าแรงฉุดใหญ่และสำคัญอย่างการส่งออกจะมาช่วยฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจปี 57 ดิ่งหัวลงไปมากกว่านี้ก็ตาม ด้วยเพราะ สศค. มองว่าในช่วงที่เศรษฐกิจซึมจากปัญหาการเมืองในประเทศ จะทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศลดลง แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่ต้องติดตามด้วยเช่นกันคือเรื่องของความสามารถในการชำระหนี้ หากผิดนัดหรือเบี้ยวหนี้ขึ้นมาก็จะทำให้ปัญหาหนี้เน่าในระบบเพิ่มขึ้น หากสูงกว่า 5-6% นั่นเท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะอันตรายและกระทบต่อโครงสร้างระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะที่ผ่านมาตัวเลขการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต เริ่มลดลงซึ่งแสดงให้เห็นว่าการบริโภคในประเทศเริ่มลดลงแล้ว และหากเศรษฐกิจไทยดิ่งลงเหว…นั่นจะยิ่งทำให้เครดิตของประเทศลดน้อยลงและขาดความน่าเชื่อถือในสายตาของต่างประเทศ สุดท้ายคนไทยทั้งประเทศต้องเป็นผู้รับกรรม!! ดังนั้นในปี 57 นี้ จะเป็นม้าคึกหรือม้าง่อย…ก็ขึ้นอยู่กับ “การเมือง” ล้วน ๆ. มาริสา ช่อกระถิน ‘การเมือง’โจทย์ใหญ่ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ขณะนี้ไทยยังมีโจทย์ใหญ่ด้านการเมืองอยู่ ซึ่งสำคัญกว่าเรื่องของเศรษฐกิจที่จะปรับขึ้นหรือปรับลงเสียอีก เพราะความเห็นต่างทางการเมืองเวลานี้ควรได้รับการแก้ไข โดยปัจจุบันมีข้อดีที่ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาแสดงความคิดเห็นแนะทางออกประเทศ จึงเชื่อว่าท้ายสุดปัญหาดังกล่าวน่าจะหาทางออกได้ ส่วนเศรษฐกิจต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น ส่งผลให้ไทยอาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า แต่ยังต้องติดตามว่าไทยจะสามารถปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากการฟื้นตัวได้มากเพียงใด ขณะที่ความเสี่ยงยังเป็นเรื่องมาตรการคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ต้องรอดูผลกระทบในการลดเงินที่อัดเข้าสู่ระบบว่าส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนของไทยอย่างไร ทำให้ ธปท.ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะที่การอุปโภคบริโภคในประเทศจะสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น แม้ปีนี้อยู่ในช่วงของการปรับฐาน ส่วนการลงทุนน่าจะได้รับผลดีจากแผนการลงทุนของภาครัฐและส่งผลไปยังการลงทุนของภาคเอกชน แต่หากสถานการณ์การเมืองไม่ดีขึ้นก็จะส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัว โดยประเมินว่าการเติบโตของสินเชื่อในปี 57 น่าจะเติบโตได้ในระดับ 6-7%  ส่งออกดีเศรษฐกิจรุ่ง “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์” ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ บอกว่า เศรษฐกิจในปี 57 นี้ น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 56 เพียงเล็กน้อย ปัจจัยสำคัญ คือ การส่งออกจะสามารถฟื้นตัว และพัฒนาความสามารถแข่งขันให้ดีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีมากน้อยเพียงใด หากส่งออกเพิ่มขึ้นได้จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ที่ 3% และถ้าส่งออกดีขึ้นเรื่อย ๆ จะขยายตัวถึง 4% แต่หากทำไม่ได้ก็อยู่ในภาวะที่ค่อนข้างลำบาก รวมทั้งต้องจับตาปัญหาการเมือง หากยังยืดเยื้อเศรษฐกิจจะเติบโตได้ยากอาจไม่ถึง 3% ขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่ต้องเผชิญปัญหาการขาดดุลการคลัง และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่มีสาเหตุจากนโยบายประชานิยม หรือการขาดทุนจากภาคส่งออก ซึ่งการขาดดุลของรัฐบาลมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญปัญหาแรงกดดันจากการปรับขึ้นค่าแรง และการขาดแคลนแรงงานส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ อีกทั้งต้องเฝ้าระวังอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าอาจกระทบต่อผู้ประกอบการได้ จีดีพีพุ่ง 4-5% ขึ้นอยู่กับ3ปัจจัย “อาคม เติมพิทยาพสิฐ” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. มองว่า เศรษฐกิจของประเทศปี 2557 มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 4-5% แต่ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านปัจจัยหลัก 3 ประการ การลงทุนของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ลดภาระต้นทุนโลจิสติกส์ ภาครัฐควรผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขัน และเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้ลงทุนในไทย รวมทั้งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในระยะยาว   นอกจากนี้ยังต้องมีความต่อเนื่องในเรื่องการผลักดันภาคการส่งออกผ่านมาตรการส่งเสริมและการเปิดตลาดส่งออกใหม่ ๆ ซึ่งรัฐบาลใหม่ต้องสานต่อมาตรการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และสุดท้ายต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงกว่าเป้าหมาย สร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้าไทย  ปัจจุบันรายได้จากท่องเที่ยวสูงกว่า 10% ของจีดีพี ส่วนสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 4 ด้าน คือ การท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐในปี 57 และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เศรษฐกิจปีมะเมียอาการสาหัส กูรู…ฟันธงการเมืองฉุดจีดีพีวูบ

Posts related