นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า สมาคมได้หารือกับกรมอาชีวศึกษา ในการเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาการท่องเที่ยวและโรงแรม เพื่อแก้ปัญหาแรงงานภาคโรงแรม ที่อาจขาดแคลนมากขึ้นในระยะยาว โดยเฉพาะสาขาฝ่ายแม่บ้าน เพราะเป็นแรงงานที่คนไทยเริ่มไม่นิยม ต้องพึ่งแรงงานจากต่างชาติ โดยการเปลี่ยนหลักสูตรอาจเป็นจากเดิมเรียนหลักสูตร 2 ปี ฝึกงาน 1 ปี เปลี่ยนเป็นเรียน 1 ปี ฝึกงาน 2 ปี และระหว่างฝึกงานจะได้ค่าแรงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำ และหากโรงแรมประเมินผ่าน ทางโรงแรมจะบรรจุเป็นพนักงานประจำให้ทันที ปัจจุบันนี้ ภาคอุตสาหกรรมโรงแรม มีแรงงาน 4 ส่วนหลัก คือ ฝ่ายครัว ฝ่ายประจำห้องอาหาร แม่บ้าน และงานส่วนหน้า ซึ่งงานส่วนหน้าและงานประจำห้องอาหารยังเพียงพอต่อตลาด เพราะมีรายได้ค่อนข้างดี นักศึกษาที่จบมาใหม่นิยมมาสมัคร อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลเกี่ยวกับโรงแรมขนาดเล็ก ในเรื่องการพัฒนาบุคลากร ด้วยเพราะงบประมาณที่น้อย หรือแนวคิดที่ไม่ต้องการพัฒนาบุคลากร เพราะกลัวบุคลากรที่ได้รับพัฒนาแล้ว ถูกซื้อตัวย้ายไปอยู่ที่ดีกว่า ดังนั้น ผู้บริหารโรงแรมต้องวางแผนบริหารใหม่ให้ดี เข้ากับยุค เพราะมองอีกมุมในตอนนี้ ประเทศคู่แข่งในอาเซียนเริ่มสนใจแรงงานไทยที่ได้ภาษาอังกฤษ เพราะมีจุดเด่นเรื่องบริการ และพร้อมให้ค่าตัวสูง จุดนี้ต้องระมัดระวังให้ดี นอกจากนี้แต่ละโรงแรมจำเป็นต้องเร่งเพิ่มคุณภาพแรงงาน และทักษะการทำงานรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 58 ด้วย ส่วนการเข้าสู่ตลาดแรงงานอาเซียนนั้น เห็นว่าจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ ในการสร้างมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานให้ชัดเจน เพราะยังไม่มีโอกาสป้องกันแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยได้ รวมทั้งจำเป็นต้องมีองค์กรตัวแทนในการกำกับดูแล ระบบมาตรฐานของประเทศ เพราะต่อไปก็จะเชื่อมโยงกับระบบการจ่ายหรือค่าจ้างด้วย “แม้ว่าตลาดอาเซียนจะเปิดแล้ว แต่ตลาดแรงงานก็ยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ทันที เนื่องจากต้องเจรจาข้อตกลงร่วมกันอีก ประกอบกับข้อตกลงจะเป็นรูปแบบทวิภาคี หากประเทศใดสนใจแรงงานกับประเทศใด ก็เจรจาแรงงานระหว่างกัน ซึ่งประเมินว่าใช้เวลา 5 ปี จึงจะมองเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงาน อย่างไรก็ตาม ทิศทางตลาดแรงงานสำหรับอุตสาหกรรมโรงแรมยังไม่น่ากังวลมากเท่าไหร่ แม้หลายฝ่ายมองว่าตลาดแรงงานฟิลิปปินส์ ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องการผลิตนักศึกษาด้านการบริการ โรงแรมปีละกว่า 2 หมื่นคนจะเข้ามาแย่งสัดส่วนแรงงานจากไทย แต่แรงงานไทยยังมีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยเฉพาะเรื่องการบริการ มีความอดทน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังต้องการแรงงานไทยมากกว่า” ด้านนางพรทิพทย์ หิรัญเกตุ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ปัจจุบันบุคลากรด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีกว่า 3.5 ล้านคน ซึ่งหากเทียบกับสัดส่วนของจำนวนักท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 20% ต่อปี หรือคาดการณ์ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยว 26.7 ล้านคน จึงทำให้ตลาดแรงงานต้องเร่งหาบุคลากรเป็นจำนวนมาก เพื่อมารองรับภาคบริการให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้อาจจะต้องใช้บุคลากรพิ่มขึ้นถึง 10% เพราะแนวโน้มของการขาดแคลนในขณะนี้ไม่ใช่เพียงภาคการโรงแรมอย่างเดียวแล้ว แต่ในบริษัททัวร์ก็เริ่มขาดพนักงานแล้วเช่นกัน “ปัญหาที่มองเห็นได้ขนาดนี้ก็คือ สถาบันการศึกษาในไทยยังขาดความเป็นมืออาชีพที่จะสอนเรื่องการบริการท่องเที่ยวต่างๆในแหล่งท่องเที่ยว เพราะเด็กนักเรียนที่จบใหม่ในปัจจุบัน ยังบกพร่องเรื่องการบริการลูกค้า รวมถึงในบางโรงแรมก็ยังมีแรงงานที่ไม่ผ่านการฝึกอบรมใด ๆ มาทำงานด้วย ซึ่งในอนาคต เรื่องการศึกษาอบรมจึงสำคัญ ในการช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ภาคโรงแรมหวั่นแม่บ้านขาดตลาด

Posts related