ภาพทางการแพทย์ที่เกิดจากการส่งตรวจต่าง ๆ ล้วนมีความสำคัญในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย ขณะเดียวกันการเก็บรักษาภาพดังกล่าวก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะหากเก็บรักษาไม่ดี โอกาสที่จะผิดพลาดหรือสูญหายย่อมเกิดขึ้นได้ “นายแพทย์นนทกานต์ นันทจิต” จากศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงพัฒนา “ระบบการจัดเก็บภาพเอกซเรย์แบบดิจิทัล” ขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาความผิดพลาดและการสูญหายจากการเก็บในระบบเดิมที่เป็บแบบแผ่นฟิล์ม โดยเป็นซอฟต์แวร์ ที่ใช้สำหรับรับส่งภาพเอกซเรย์ แล้วแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัล พัฒนาโดยอาศัยการอ้างอิงจากชุดพัฒนาที่เป็นโอเพ่นซอร์ส และนำมาพัฒนาต่อยอด โดยแบ่งเป็นส่วนการจัดเก็บภาพที่เครื่องแม่ข่าย และส่วนที่ใช้ในการเรียกดูภาพดังกล่าวที่เครื่องลูกข่าย การเรียกดูภาพนั้น สามารถใช้ได้ทั้งแบบเรียกผ่านโปรแกรมที่เป็นสแตนด์อโลน และแบบเรียกดูผ่านเว็บเบราเซอร์ ผู้พัฒนาระบบบอกว่า ซอฟต์แวร์ในลักษณะนี้ ปัจจุบันมีจำหน่ายในท้องตลาดแต่มีราคาสูงมาก และมักจะขายคู่มากับเครื่องเอกซเรย์ราคาหลายสิบล้านบาท แต่นี่ได้พัฒนาขึ้นเอง สามารถที่จะใช้กับเครื่องเอกซเรย์เดิมที่โรงพยาบาลมีอยู่ ประหยัดค่าซอฟต์แวร์ราคาสูงลิ่ว และยังสามารถต่อยอดไปใช้งานกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ ในอนาคตได้อีกด้วย ระบบนี้คว้ารางวัลเหรียญเงินจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติที่ไต้หวันเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา และผ่านการทดสอบใช้งานมาแล้วกว่า 1ปี ผู้พัฒนาระบบบอกอีกว่า อยากให้โรงพยาบาลอื่น ๆ ได้นำไปใช้งาน เพื่อจะได้ลดค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ ที่สูงถึงหลักล้าน แต่ระบบนี้ฟรี …เพราะเป็นโอเพ่นซอร์ส ฝีมือคนไทย. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ระบบเก็บภาพเอกซเรย์ให้เป็นดิจิทัลหมอไทยทำใช้เอง ไม่ต้องซื้อราคาแพง

Posts related