นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.บ.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ 2 ล้านล้านว่า ได้หารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เพื่อหาแนวทางสำรอง หาก พ.ร.บ.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านเกิดชะลอหรือ ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยกระทรวงการคลังจะพยายามหางบประมาณจากส่วนอื่นมาใช้ เพื่อให้โครงการลงทุนต่าง ๆ เดินหน้าต่อได้ เพราะไทยจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาศักยภาพประเทศ แต่ยอมรับว่าหาก พ.ร.บ.ไม่สามารถเดินหน้าได้จริง จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ อย่างไรก็ตามในส่วนโครงการปี 57 บางส่วนนั้น ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะได้ก่อสร้างไว้ก่อนแล้ว เช่น โครงการรถไฟฟ้าสีม่วง และน้ำเงิน แต่ที่อาจได้รับผลกระทบให้ล่าช้าออกไป เช่น โครงการขยายถนนทางหลวง ทางหลวงพิเศษบางปะอิน-นครราชสีมา ส่วนรถไฟทางคู่ 5 สาย ตั้งเป้าหมายจะเริ่มก่อสร้างในกลางปี 57 จึงสามารถรอการพิจารณาของศาลได้ นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังเตรียมจัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการ (พีเอ็มโอ) ขึ้นมาดูแลการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.บ.ให้อำนวจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด และโปร่งใส เบื้องต้นได้หารือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ธนาคารโลก ให้เข้ามาช่วยในเรื่องดัง ด้วย รวมถึงภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นแห่งชาติ เพื่อช่วยตรวจสอบการดำเนินงานในภาพรวมทั้งหมดไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้น คาดว่าจะจัดตั้งได้ทันทีห ลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วเสร็จ “ขณะนี้ต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานระดับโลกให้เข้ามาช่วย เพื่อเตรียมจัดตั้งสำนักงานดังกล่าว หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะได้จัดตั้งได้ทันที โดยการดำเนินงานในช่วงแรกจะให้อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมก่อน โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม ที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ดูแล และมีหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย ขณะเดียวกันจะมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาช่วยวางระบบการตรวจสอบติดตามงานเพื่อให้ทราบภาพรวมการดำเนินงานในทุกโครงการ” นายวิชัย ศิวโกศิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เดินหน้าได้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ เพราะโครงการภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย รถไฟทางคู่ทั่วประเทศ และรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด เทรน) โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เปิดการให้นิสิตเรียนระบบรางไปเมื่อปี 55 เพื่อเตรียมบุคลากรไว้รองรับการพัฒนาระบบรางที่จะมีมากยิ่งขึ้นในอนาคตแล้ว ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็เปิดหลักสูตรเกี่ยวกับระบบรางโดยตรง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : รัฐวุ่นหาแผนสำรอง 2 ล้านล้านบาทฯ

Posts related