กลับมาตื่นเต้นกันอีกครั้ง.. เมื่อใกล้ถึงเวลาที่ดาวหาง “ไอซอน” จะโคจรเฉียดดวงอาทิตย์ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ แม้จะไม่อาจคาดเดาได้ถึงความสุกสว่าง ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด แต่ก็น่าลุ้น! เพราะดาวหางดวงนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นดาวหางแห่งปี ที่นักดาราศาสตร์ทั่วโลกรวมถึงชาวไทยต่างรู้จัก และเฝ้าติดตามการมาเยือน นับจากที่ถูกค้นพบโดยสองนักดาราศาสตร์สมัครเล่น “ไวตาลี เนฟสกี้” ชาวเบลารุส และ “อาร์เตียม โนวิคโคนอค” ชาวรัสเซีย ภายใต้โครงการไอซอน (ISON: International Scientific Optical Network) เมื่อเดือนกันยายน 2555 “ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา” รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสดร. บอกว่า การเฝ้าติดตามก่อนหน้านี้ เคยพบว่าดาวหางไอซอนอาจไม่สุกสว่างอย่างที่นักดาราศาสตร์ทั่วโลกเคยคาดกันว่าจะสว่างถึงขนาดเท่ากับแสงของดวงจันทร์ แต่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กลับพบว่าดาวหางดวงนี้มีพัฒนาการของความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ดาวหางไอซอนมีการประทุของก๊าซออกมา ส่งผลให้ความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้จะยังไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ก็กลับมาเป็นที่สนใจของนักดาราศาสตร์ทั่วโลกอีกครั้ง ทำให้จากนี้ไปต้องลุ้นกันว่า ดาวหางไอซอนจะสว่างพอที่จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือไม่ ก่อนที่จะโคจรเข้าสู่จุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งอยู่ห่างจากผิวดวงอาทิตย์ เพียง 1.2 ล้านกิโลเมตรเท่านั้น การเฉียดดวงอาทิตย์ครั้งนี้จะทำให้ดาวหางไอซอนมีอุณหภูมิสูงถึง 2,000 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจจะระเหิดไปหมด หรือแตกเป็นเสี่ยงได้ แต่หากพิจารณาจากขนาดและการโคจรแล้ว ดร.ศรัณย์ บอกว่า มีโอกาสค่อนข้างมากที่ดาวหางไอซอนจะรอดกลับมาให้เราได้ชมดาวหางที่สว่างและสวยงามอีกครั้งหนึ่งในต้นเดือนธันวาคม สำหรับดาวหางไอซอนหรือ C/2012 S1 (ISON) เป็นดาวหางคาบยาว เนื่องจากมีคาบการโคจรนานกว่า 300 ปี และเป็นดาวหางใหม่ที่เข้ามาในระบบสุริยะเพียงเที่ยวเดียว และจะไม่กลับมาอีก การเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นช่วงที่ดาวหางน่าจะมีความสว่างมากที่สุด แต่เนื่องจากเวลาดังกล่าวจะไม่สามารถมองเห็นได้เพราะถูกแสงของดวงอาทิตย์กลบ ดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดู คือช่วงวันที่ 15-25 พฤศจิกายน 2556 ที่ดาวหางโคจรก่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และหลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ วันที่ 3-15 ธันวาคม 2556 โดยสังเกตได้ในเวลาเช้ามืดทางทิศตะวันออกก่อนอาทิตย์ขึ้น บริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว แต่การสังเกตอาจจะไม่ชัดเจนมากนักเนื่องจากแสงตอนเช้ารบกวน ควรใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยาย 20-30 เท่า หรือใช้กล้องสองตา กำลังขยาย 7 เท่า ก็พอมองเห็นได้ นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่ดาวหางไอซอนมาเยือนโลก คนไทยยังมีโอกาสสังเกตเห็นดาวหางคาบสั้นอีก 3 ดวง ในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย คือ ดาวหางเลิฟจอย (Lovejoy X1) ดาวหางลีเนีย (LINEAR X1) และดาวหางเองเค (2P Enke) โดยดาวหางเลิฟจอยถูกค้นพบเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา มีความสว่างปานกลาง และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่งของวันที่ 23 ธันวาคม 2556 ตามเวลาประเทศไทย ส่วนดาวหางลีเนีย และดาวหางเองเค เป็นดาวหางที่ค้นพบมานานแล้ว และเป็นดาวหางที่มีคาบการโคจร ปัจจุบันมีการค้นพบดาวหางได้มากขึ้น เนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะค้นพบดาวหางขนาดใหญ่ประมาณ 10 กว่าดวงในรอบ 100 ปี นักดาราศาสตร์ใช้ดาวหางในการศึกษาถึงที่มาของระบบสุริยจักรวาล สนามแม่เหล็กต่าง ๆ ดาวหางอาจเป็นที่มาของน้ำในมหาสมุทร แต่การเกิดดาวหางที่มาเยือนโลกพร้อมกันถึง 4 ดวง ดร.ศรัณย์ ยืนยันไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน ภัยพิบัติ รวมถึงเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะนี่คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่อยู่ห่างไกลจากโลกมากจริง ๆ !!!. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ลุ้น ‘ไอซอน ‘ดาวหางแห่งปี’

Posts related