อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ป่วน ภาคธุรกิจยังละเมิดลิขสิทธิ์สูง บก.ปอศ.เผยแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง หวังปลดล็อกไทยจากประเทศที่ถูกจับตาเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์สูงในเอเชียแปซิฟิก พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันองค์กรธุรกิจในไทยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ช่วงปี 2556 ตั้งแต่เดือนม.ค-ต.ค. มีการดำเนินคดีไปแล้วจำนวน 247 คดี โดยอุตสาหกรรมวิศวกรรมและการก่อสร้าง มีการละเมิดมากที่สุด รองลงมาคือ อุตสาหกรรมโรงงานผลิตอุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมบริษัทรับเหมาช่วงต่อ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมออกแบบ และอุตสาหกรรมตัวแทนจำหน่ายและธุรกิจค้าส่ง โดยอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ยังเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2554 ซึ่งการละเมิดลิขสิทธิ์ส่งผลให้เกิดความเสียหายไปแล้วจำนวน 510.85 ล้านบาท ที่ผ่านมา บก.ปอศ. ได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยกำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต่อต้านและควบคุมสินค้าซอฟต์แวร์ของไทย เนื่องจากในปี 2554 ประเทศไทยมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ถึง 72% และอยู่ในลำดับที่ 7 ของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงได้ตั้งเป้าลดการละเมิดลงในปี 2557 ซึ่งมีการดำเนินการแจ้งเตือนกลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้นให้ดำเนินการแก้ไขก่อนที่จะมีการจับตรวจค้น เนื่องจากไม่ต้องการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ เพราะเข้าใจว่าต้องการลดต้นทุนขององค์กร อยากให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์ เนื่องจากพบว่าบริษัทมีรายรับต่อปีเฉลี่ยประมาณ 231 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดเฉลี่ยประมาณ 2.06 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หากผู้ประกอบการไทยใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์ จะเพิ่มค่าใช้จ่ายเพียงประมาณ 2 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการใช้งานขององค์กรที่ทำได้อย่างเปิดเผย พ.ต.อ.ชัยณรงค์ กล่าวว่า หากประเทศไทยสามารถลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ได้จะปลดล็อกออกจากประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ จากประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับเออีซีที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ไทยยังละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูง

Posts related