ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงทุกปี การปลูกป่าทดแทนไม่เพียงพอต่อการใช้งาน การใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างไม่รู้คุณค่า และไม่ได้ก่อประโยชน์สูงสุด จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ปริมาณเศษไม้ที่เหลือใช้ในภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นขยะไร้คุณค่า และก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการยกระดับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และใช้เทคโนโลยีมาสร้างงานนวัตกรรมจากเศษไม้และวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็น ปัจจุบัน ประเทศไทยเรามีเศษวัสดุเหลือใช้ ทั้งจากพืชผลการเกษตร และวัชพืชต่าง ๆ มากถึง 38 ล้านตันต่อปี โดยที่ 3 ใน 4 มาจากภาคการเกษตร การนำวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาผลิตเป็นวัสดุทดแทนไม้โดยอาศัยเทคโนโลยี กระบวนการผลิตที่กรมป่าไม้ดำเนินการศึกษาวิจัยอยู่ จึงเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้ได้อย่างคุ้มค่า ลดปริมาณขยะ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี วรธรรม อุ่นจิตติชัย ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวว่า “ปัจจุบัน ตลาดวัสดุทดแทนไม้ที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรม โดยใช้เศษไม้ยางพารา มีปริมาณประมาณ 1,000 ตันต่อปี ส่วนตลาดวัสดุทดแทนไม้ที่ทำมาจากเศษวัสดุเหลือใช้ จัดเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ยังไม่เติบโตมากนัก เรียกว่าเป็นนิชมาร์เกต ส่วนใหญ่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม คนที่ซื้อไปมักนำไปดีไซน์ ออกแบบตกแต่ง เช่น ร้านชลาชล วราภรณ์ซาลาเปา ธ.ก.ส.” ข้อดีของวัสดุทดแทนไม้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรคือ มีลวดลาย สีสันที่โดดเด่น มีความเป็นธรรมชาติ บางชนิดมีกลิ่น อาทิ วัสดุทดแทนไม้ที่ทำมาจากเปลือกส้ม และมีความแข็งแรงทนทานสูงกว่าวัสดุทดแทนไม้ที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรม แต่เพราะยังขาดเรื่องการประชาสัมพันธ์ ทำให้ตลาดวัสดุทดแทนไม้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ยังไม่เติบโตมากนัก “แนวโน้มตลาดวัสดุทดแทนไม้ที่ทำมาจากเศษวัสดุเหลือใช้ คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ระดับกลาง โดยเริ่มต้นจากตลาดประเภทกรีนโปรดักส์ไปก่อน แล้วค่อยสร้างมาตรฐานเหมือนกับไม้ยางพารา ที่เดิมไม่ได้รับความสนใจ แต่ตอนนี้ก็ได้กลายเป็นไม้เศรษฐกิจราคาแพงไปแล้ว” ในอาเซียน ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกที่มีการคิดค้นเอาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำเป็นวัสดุทดแทนไม้ ปัจจุบันมีมากกว่า 40 ชนิด อาทิ ฟางข้าว เปลือกข้าว ตะไคร้ ข้าวบาร์เล่ย์ กระเจี๊ยบ เปลือกส้ม เปลือกทุเรียน เปลือกมังคุด มาเลเซียเริ่มมีการนำเศษวัสดุเหลือใช้จากปาล์มน้ำมันมาใช้ทำเป็นวัสดุทดแทนไม้ แต่ยังเป็นโครงการที่เพิ่งเริ่มต้น ปัจจุบัน ประเทศไทยเรานอกจากจะผลิตวัสดุทดแทนไม้จากจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมากที่สุดแล้ว เรายังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศมากถึง 50% ของกำลังการผลิต หรือประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประเทศแถบยุโรปและญี่ปุ่น นิยมวัสดุทดแทนไม้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีคุณภาพสูง ส่วนเกาหลีและจีน จะนิยมวัสดุทดแทนไม้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีคุณภาพปานกลางถึงสูง ส่วนบังกลาเทศจะนิยมวัสดุทดแทนไม้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีคุณภาพปานกลาง.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : วัสดุทดแทนไม้จากวัสดุเหลือใช้ไทยส่งออก 50% ของกำลังการผลิต

Posts related