ต้อนรับสู่ศักราชใหม่ หลังปิดฉากปีมะเส็ง สุดหดหู่ด้านเศรษฐกิจ เจอทั้งพิษการเมืองในประเทศที่ลากยาว แถมยังไม่รู้ท่าทีจุดหมายของการสงบคืออะไร เลยกลายเป็นเศรษฐกิจปีงูเล็กจุกอก มึนตึ้บไปตาม ๆ กัน เรื่องร้าย ๆ ที่ผ่านมา ก็ขอให้ผ่านไป ส่วนเรื่องดี ๆ อยากให้เก็บไว้ให้ชุ่มชื่นหัวใจ เตรียมตัวเตรียมใจรับศึกปีมะเมีย หลายสำนักทั้งฝั่งวิชาการ ฝันโหราศาสตร์ ฟันธงไปทิศทางเดียวกัน ปีม้าปีนี้จะเป็นม้าคึกคะนอง ซู่ซ่าตลอดปี แต่ไม่วายตั้งเงื่อนไข เหตุบ้านการเมืองต้องจบเร็ว อย่าลากยาว! แต่สิ่งสำคัญตอนนี้ ผู้ประกอบการ ต้องหันมาดูแลเดินหน้าการทำธุรกิจ โกยรายได้เข้ากระเป๋าดีที่สุด ส่วนธุรกิจไหนจะเป็นดาวรุ่ง เจิดจรัส ธุรกิจไหนจะเป็นธุรกิจดาวดับอับแสง เปิดโผให้รู้กัน 10 อันดับ ธุรกิจไหนเป็นดาวดับก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีคัมภีร์ชี้ช่องดาวดับ ให้กลับมาส่องแสงเจิดจรัสอีกครั้ง โดย 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวดับ ครั้งนี้ เป็นการสำรวจวิเคราะห์จากหน่วยงาน สสว.และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ต่างฝ่ายต่างวิเคราะห์ ในแบบฉบับของหน่วยงาน แต่ก็ได้ผลออกมาคล้ายคลึงกัน จึงได้รวบรวมมาเปิดโผให้เห็นเจาะลึกถึงปัจจัยหนุนปัจจัยเสี่ยง โดย สสว.ได้วิเคราะห์ใช้ตารางปัจจัย-ผลผลิตของเอสเอ็มอี 58 สาขา ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคบริการ ซึ่งให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์ ผ่านผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากมีผู้ประกอบการกว่า 2.7 ล้านราย คิดเป็น 97–98 % ของผู้ประกอบการทั่วประเทศ ใช้เกณฑ์ข้อมูลผลประกอบการในช่วงปี 52-54 ปัจจัยการผลิตเอื้ออำนวย นโยบายของประเทศไทย แนวโน้มทางด้านสภาพเศรษฐกิจ สังคม ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินธุรกิจจากผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเอสเอ็มอี จากข้อมูลการนำเข้า–ส่งออก การให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตรากำลังการผลิต ภาวะเศรษฐกิจทั้งของไทย และต่างประเทศ ผ่านการให้คะแนนด้านยอดขาย ต้นทุน ส่วนต่างกำไร ความสามารถรับความเสี่ยง และกระแสนิยม วิเคราะห์เจาะลึกทั้งปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง พบว่า อันดับ 10 พลังงาน,พลังงานทดแทน ธุรกิจนี้ แม้จะเป็นธุรกิจดาวรุ่ง แต่ก็เริ่มตกอันดับลงมาเรื่อย ๆ จากปีที่ผ่านมาอยู่ในอันดับ 5 ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนการผลิตที่สูง รวมทั้งการส่งเสริมนโยบายของภาครัฐ ยังไม่ชัดเจน และต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยสนับสนุน ที่ยังส่งผ่านให้เป็นธุรกิจดาวรุ่งได้ คือ ความต้องการใช้พลังงานทั้งน้ำมัน ไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และพลังงานทดแทน รวมทั้งความต้องการใช้พลังงานทดแทน เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น และการสนับสนุนของรัฐบาลในการใช้พลังงานทดแทน ขณะที่ราคาวัตถุดิบ ยังไม่สูงมากนัก แต่ราคาพลังงานเริ่มเพิ่มสูงขึ้น อันดับ 9 อสังหาริมทรัพย์ ยังถือเป็นธุรกิจดาวรุ่ง เพราะยังมีความต้องการซื้อของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเภทแนวดิ่ง เช่น คอนโดฯ ตามแนวรถไฟฟ้า และมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ด้านคมนาคม รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ยังต่ำ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ไม่แน่นอน อาจทำให้นโยบายด้านรถไฟฟ้าของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่สูง โดยเฉพาะค่าแรงงาน ที่ดิน ค่าวัสดุก่อสร้าง และปัญหาขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงขึ้น อันดับ 8 เครื่องดื่ม,วัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเครื่องดื่ม ติดอันดับดาวรุ่ง เพราะเป็นธุรกิจที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิต รวมทั้งมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ด้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น กำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ที่สำคัญพฤติกรรมคนไทย ชอบการสังสรรค์ ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ระดับราคาสินค้าที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับสินค้าอื่น และมีคู่แข่งทางธุรกิจที่สูง รวมทั้งแข่งขันกันตัดราคาส่วนธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง มีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล, การขยายตัวของภาคอสังหาริม ทรัพย์ในภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การส่งออก ธุรกิจอสังหาฯ และการปรับตัวของภาคการผลิตเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเสถียรภาพทางการเมืองไม่แน่นอน การเริ่มโครงการของภาครัฐอาจล่าช้า ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงาน และปัญหาขาดแคลนแรงงาน อันดับ 7 ประกันภัย,ประกันชีวิต ได้รับแรงส่งจากปัจจัยสนับสนุนนโยบายลดหย่อนภาษี ที่ยังมีต่อเนื่อง รายได้ของประชาชนมีโอกาสเพิ่มขึ้น การลงทุนของบริษัทประกันชีวิตในธุรกิจอื่น ความเข้าใจรูปแบบประกันต่าง ๆ มีมากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ อุบัติภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งหลักเกณฑ์การกำกับดูแลบริษัทในกลุ่มประกันเข้มงวด และดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ อันดับ 6 ท่องเที่ยว,ศึกษา,เคมีภัณฑ์ ธุรกิจท่องเที่ยว ได้รับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งชาวจีน อินเดีย รัสเซีย ระดับราคาท่องเที่ยวไทย ไม่สูงมาก และมีการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยเสี่ยงคู่แข่งทางธุรกิจสูง แข่งขันตัดราคา สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน ธุรกิจการศึกษา ได้รับแรงสนับสนุนจากกระแสการเรียนรู้มากขึ้นในสังคม การเข้าถึงแหล่งการเรียนจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การเตรียมพร้อมเข้าสู่เออีซี แต่ยังปัจจัยเสี่ยงจากการแข่งขันทางธุรกิจมีมาก การชำนาญของบุคลากร และดูแลเรื่องคุณภาพและการให้บริการธุรกิจเคมีภัณฑ์ ปัจจัยสนับสนุนจากตลาดต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีน อาเซียน ภาวะเศรษฐกิจโลก ที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว และมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวนโยบายภาครัฐ และเสถียรภาพการเมือง อัตราแลกเปลี่ยน อันดับ 5 ผลิตและอุปกรณ์เทคโนโลยี ได้รับแรงสนับสนุนจากสภาวะเศรษฐกิจโลกมีทิศทางดีขึ้น ความต้องการสินค้าในประเทศยังมีต่อเนื่อง การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี ราคาไม่สูงมาก ทำให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้มาก ส่วนปัจจัยเสี่ยง ยังมีการแข่งขันทางธุรกิจที่สูง เทคโนโลยีตกรุ่นเร็ว ทำให้ราคาตกเร็ว อันดับ 4 เม็ดพลาสติก ปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ความต้องการภาชนะอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น ความต้องการใช้พลาสติกของโลกมากขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการรณรงค์ลดใช้พลาสติก เพื่อไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ระดับราคาขึ้นอยู่กับปิโตรเลียมเป็นสำคัญ อันดับ 3 สื่อโทรทัศน์, ออแกไนท์ ปัจจัยสนับสนุน ธุรกิจด้านสื่อโทรทัศน์เข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล การเข้าถึงของประชาชนต่อเนื่อง การออกใบอนุญาตให้ดำเนินการฟรีทีวี การขยายเครือข่าย และมีช่องทางเผยแพร่หลากหลาย การโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์เป็นที่นิยม ปัจจัยเสี่ยง คือ การแข่งขันด้านสื่อที่รุนแรงมากขึ้น รวมทั้งบุคลากรที่เชี่ยวชาญไม่เพียงพอกับความต้องการ รูปแบบการกำกับดูแลทีวีดิจิทัลหลังจากให้ใบอนุญาตฯส่วนธุรกิจออแกไนท์ ได้รับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว พฤติกรรมธุรกิจเริ่มหันมาใช้บริการออแกไนท์ การขยายตัวของโซเชียลมีเดียมากขึ้น และธุรกิจเริ่มหาแนวทางสร้างกระแสเป็นเฉพาะพื้นที่ (นิช มาเก็ต) แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาการเมือง และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น อันดับ 2 เทคโนโลยีสื่อสาร ได้รับแรงปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการใช้ระบบสื่อสารมีมากขึ้นต่อเนื่อง การเข้าสู่ยุค 3 จี และพัฒนาระบบการสื่อสารมากขึ้น การพัฒนาเครือข่ายความเร็วสูงในทุกพื้นที่ และราคาอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ มีราคาต่ำลง รวมทั้งผู้ให้บริการยังมีไม่มาก แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการแข่งขันราคาสูง การปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว อันดับ 1 บริการการแพทย์และความงาม ได้รับแรงสนับสนุนจากกระแสการให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพ และการดูแลความงามมากขึ้น การบริการทางการแพทย์และความงามของไทยมีคุณภาพดี ราคาไม่แพง ประเทศเพื่อนบ้านให้ความเชื่อมั่นกับไทยเรื่องการรักษา และความงาม พฤติกรรมการดูแลผิวพรรณที่มีมากขึ้น และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรในการรักษาที่เพียงพอ โดยเฉพาะพยาบาล รวมทั้งมีปัญหาความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความไม่มีมาตรฐานของสถานประกอบการบางแห่ง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งนี้ ในกลุ่มธุรกิจดาวรุ่งนั้น “ปฏิมา จีระแพทย์” ผู้อำนวยการ สสว.ได้แนะแนวทางการส่งเสริมให้ยิ่งรุ่งต่อไป โดยภาครัฐต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนานวัตกรรมของโมเดลธุรกิจ หาโอกาส และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนโยบายส่งเสริมการอุดหนุนของรัฐต่อการร่วมทุน รวมทั้งการบริการจับคู่ธุรกิจหามาตรการภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุน              ขณะเดียวกันควรอุดหนุนการวิจัยพัฒนา การฝึกอบรมพัฒนา การจัดระบบพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการ การสนับสนุนการต่อยอดการวิจัย เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ การพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการ วิสัยทัศน์ร่วม สถานประกอบการร่วม ศูนย์บ่มเพาะ การใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ระบบติดตามการพัฒนาเทคโนโลยี ศูนย์ข้อมูลผู้เชี่ยวชาญสิทธิบัตร และแนะนำผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หาช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ซึ่งหากผู้ประกอบการธุรกิจต้องการคำแนะนำ สอบถามได้ที่ สสว.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ ส่วน 10 ธุรกิจดาวดับที่เริ่มอับแสง หรือที่ “สสว.” เรียกว่า เป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวัง โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากผลผลิตของผู้ประกอบการมีอัตราการขยายตัวน้อยจนถึงติดลบ ส่วนใหญ่เป็น กลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานมาก รวมทั้งสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศที่มีต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบต่ำกว่า เช่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม กลุ่มนี้ สสว.ไม่ได้จัดอันดับว่าธุรกิจไหนอับแสงสูงที่สุด แต่เป็นการสำรวจรวม ๆ คือ 1. การผลิตผลิตภัณฑคอนกรีต 2. การทําเหมืองถานหิน และแรลิกไนต  3.  การผลิตผลิตภัณฑเหล็กกลา 4. การผลิตอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิตอุปกรณการถายภาพ และสายตา การผลิตนาฬิกา การผลิตเครื่องประดับ การผลิตเครื่องดนตรี และเครื่องกีฬา 5. ไม้ และผลิตภัณฑ์จากไม้ 6.ผลิตภัณฑอื่น ๆ ที่ไมใชเหล็ก ถลุงแรอื่น ๆ เชน ถลุงดีบุก 7. การผลิตผลิตภัณฑที่ไมใช่โลหะ เช่น การผลิตกระเบื้องเคลือบและเครื่องปนดินเผา การผลิตแก้วและผลิตภัณฑ์จากแก้ว 8. การทําเหมืองแรเหล็ก ดีบุก และทังสเตน 9. การบริการทางธุรกิจตาง ๆ 10. หนัง และการผลิตเครื่องหนัง แต่ก็ไม่ใช่ว่าดาวอับแสงจะไม่กลับมาเจิดจรัสได้ เพราะเมื่อพิจารณาลงลึกถึงผลิตภัณฑ์แล้ว พบว่ายังมีบางผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสเติบโตได้ เพียงแต่ต้องเน้นการสร้างคุณค่า และมีเพิ่มมูลค่าขึ้น เช่น การออกแบบ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ การสนองตอบตลาดระดับบน ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนเมือง-คนรุ่นใหม่ รวมทั้งให้ใส่ความเป็นไทยลงไป เช่น การผลิตอุปกรณ์ และเครื่องแต่งกายกีฬาในเทศกาลการแข่งขัน ผลิตภัณฑ์กระเบื้องเคลือบตกแต่งบ้าน เครื่องหนังที่มีดีไซน์ และใช้วัตถุดิบคุณสมบัติพิเศษ ส่วนธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ ให้ออกแบบครอบคลุมทุกกลุ่มตลาดมากขึ้น เช่น ขณะนี้ประเทศเมียนมาร์ อยู่ระหว่างการเปิดประเทศ ต้องการเฟอร์นิเจอร์ที่มาจากไทยจำนวนมาก เนื่องจากสินค้าออกแบบสวยงามเป็นที่ต้องการของชาวเมียนมาร์ เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการไทย ควรหาช่องทางการเข้าไปขายสินค้าในประเทศเมียนมาร์มากขึ้น หากปรับปรุงผลิตภัณฑ์ได้ตามนี้ รับรองดาวดับ กลับมาเกิดเจิดจรัสแน่นอน! ไม่ว่าธุรกิจไหนจะอยู่ในกลุ่มดาวรุ่งหรือดาวดับ แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจ คือ การติดตามแนวโน้มสินค้าว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน และปรับปรุงสินค้าให้เข้าเทรนด์ ตรงความต้องการของลูกค้า รวมทั้งหาช่องทางการขายให้เข้าถึงกับกลุ่มเป้าหมาย เคล็ดลับง่าย ๆ แค่นี้เชื่อว่าธุรกิจอยู่ยาวแน่นอน. จิตวดี เพ็งมาก

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เปิดโผ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง – ดาวดับ แนะเสริมธุรกิจมั่นคงรับปีมะเมีย

Posts related