หลังจากประเทศไทยประสบปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่องได้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นบรรดาเจ้าสัว มนุษย์เงินเดือน หรือแม้แต่ประชาชนระดับรากหญ้า และพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ที่ต้องมาบ่นกับการซื้อสินค้าแพงไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะอาหารจานด่วน ก๋วยเตี๋ยว ผัก ผลไม้ ไข่ไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ของใช้ในชีวิตประจำวัน และค่าบริการ เป็นต้น ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นในปี 56 ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาลเกือบทั้งสิ้น เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ นโยบายการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดตันละ 15,000 บาท การทยอยปรับขึ้นราคาแอลพีจีและการอุดหนุนสินค้าเกษตรอื่น ๆ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ทั้งการขึ้นของค่าไฟฟ้า ราคานํ้ามัน และราคาวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ไม่เว้นแม้แต่การฉวยโอกาสในการปรับขึ้นราคาสินค้าในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ที่ทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “เห็นได้จากคำพูดของแม่บ้านคนหนึ่งที่ต้องเลี้ยงลูก 2 คน อ้างว่า แม้รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทก็ตาม สุดท้าย ก็ไม่มีเงินเหลือเก็บเหมือนกับเมื่อก่อน ที่ได้ค่าจ้างวันละ 200 บาท กว่า ๆ แต่ก็ยังมีเงินเก็บ เพราะเดิมซื้อกับข้าวถุงละ 20 บาท แค่ 100 บาทคนในครอบครัวกินได้ 3 มื้อ แต่ตอนนี้กับข้าวถุงละ 30-45 บาทแล้ว เงิน 100 บาท ซื้อได้แค่ 1 มื้อ” สถานการณ์ดังกล่าว สวนทางกับข้อมูลของภาครัฐบาลที่มักจะอ้างว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าไม่ได้สูงจริงตามที่ชาวบ้านอ้างจนเกิดวาทกรรม ’ราคาของแพงชาวบ้านคิดไปเอง” เพราะสินค้าตามห้างค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า ราคาก็ไม่สูง แถมผู้ประกอบการยังจัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม ไม่เว้นแต่ละวัน สุดท้ายจึงเกิดการทะเลาะกันระหว่างชาวบ้านกับข้าราชการ ข้าวแกงพุ่งสวนสินค้าโรงงาน “ธนิต โสรัตน์” เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อธิบายเรื่องนี้ว่า เป็นข้อมูลที่ถูกทั้ง 2 ฝ่าย เพราะภาวะค่าครองชีพของไทยขณะนี้ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ เรื่องอาหาร เช่น ข้าวแกง หรืออื่น ๆ และ สินค้าอุปโภคบริโภค โดยอาหารนั้น เฉพาะตลาดร้านริมถนน ยันไปถึงร้านใหญ่ ถือว่ามีราคาแพงมาก ซึ่งร้านริมถนนอย่างข้าวแกงราคาปรับจาก 25-30 บาทต่อจาน เป็น 40-50 บาท ตรงนี้ได้กระทบต่อผู้บริโภคอย่างมาก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวบ้านระดับรากหญ้าที่เดือดร้อนเต็ม ๆ เนื่องจากเงินที่ได้มาส่วนใหญ่จะใช้จ่ายกับการซื้ออาหารขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค หรือของใช้นั้นพบว่าในช่วงปี 56 มีการแข่งขันเรื่องราคาอย่างรุนแรง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยสินค้าแบบฟุ่มเฟือย ทำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไม่กล้าปรับขึ้นราคาสินค้าทั้ง ๆ ที่ต้องรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เพราะหากรายใดปรับราคาสูงตามต้นทุนที่พุ่งขึ้นโดยเฉพาะต้นทุนค่าแรง ก็จะทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าที่ถูกกว่าแทนอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สินค้าหลาย ๆ ประเภทไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้มากนักนอกเหนือจากเศรษฐกิจซบเซา คือเรื่องของการส่งออกไม่ดี ทำให้ผู้ประกอบการนำสินค้าที่จะส่งออก หันมาขายในประเทศแทน ก็ยิ่งทำให้สินค้าล้นตลาด!!     “ธนิต” ยังอธิบายอีกว่าสาเหตุที่การบริโภคที่หดตัวลง จนมีส่วนทำให้ราคาสินค้าทั่วไปไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ ยกเว้นเรื่องของอาหาร มาจากหลายปัจจัย คือ กำลังการผลิตที่ลดลง ราคาสินค้าเกษตรที่ติดลบ ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรน้อยลง ซึ่งตรงนี้จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคตามชนบทโดยตรง ส่วนผู้บริโภคที่อยู่ในเมืองใหญ่ จะประสบกับปัญหาที่แตกต่างกันไป โดยคนในเมืองใหญ่ จะมีรายจ่ายที่มากขึ้น เช่น จากการซื้อรถยนต์คันแรก ส่งผลให้ต้องใช้จ่ายเรื่องค่านํ้ามัน และค่าบำรุงรักษาตามมา ทำให้เงินที่จะต้องใช้จ่ายเหลือน้อยลง ซึ่งผู้บริโภคก็ปรับตัวด้วยการพยายามใช้เงินให้น้อยลงเช่นกัน สุดท้ายเมื่อประชาชนลดการใช้จ่ายลง ทำให้บรรดาผู้ประกอบการอย่างห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกและร้านค้าต่าง ๆ ต้องงัดโปรโมชั่นลดแหลก เห็นได้จากในไตรมาสที่ 4 ของปี 56 ที่ผ่านมา บรรดาห้างค้าปลีกต่างไล่บี้ให้โรงงานผลิตสินค้าในระดับเอสเอ็มอี ให้ลดราคา สินค้าลง 15-20% เพื่อที่ห้างฯ นำมาลดราคาในช่วงเทศกาลปีใหม่ สินค้ารอโอกาสขึ้นแน่ เมื่อดูภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าในปี 56 เหมือนกับว่าสินค้าต่าง ๆ นั้นอัดอั้นมานานและกำลังรอโอกาสที่จะปรับขึ้นราคาตามต้นทุนการผลิตตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า และระดับปลายนํ้า ดังนั้น ปี 56 ที่ชาวบ้านเดือดร้อนจากราคาสินค้าพุ่งกระฉูดนั้น นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า ปีที่แล้วสินค้าขึ้นแบบหลอก ๆ หรือเผาหลอก แต่ของจริงน่าจะเป็นปี 57 มากกว่า ขอเพียงแต่รอคำว่าเศรษฐกิจดีและการส่งออกดีรับรองว่าครึ่งปี 57 ราคาหลายตัวจะพุ่งกระฉูดแน่นอน ทั้งนี้พบว่าที่ผ่านมาในปี 56 มีผู้ประกอบการหลายราย ทำหนังสือมายังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ก็ถูกเบรกไว้หลายประเภท ด้วยการขอความร่วมมือให้ตรึงราคาสินค้าออกไปจนสิ้นปี 56 จากนั้นก็มาพิจารณาสินค้าเป็นรายชนิด ว่าปรับราคาได้หรือไม่ โดยเฉพาะในรายของ ผู้ผลิตซีอิ๊ว นํ้าปลา นํ้าตาลทราย ถุงขนาด 1 กก. นมสดพร้อมดื่ม หรือแม้แต่นํ้ามันพืช เป็นต้น ที่ทำเรื่องขอขึ้นราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในหมวดอาหารหมดแล้ว ก็ถูกเบรกทั้งที่สาเหตุที่ขอขึ้นราคามาจากผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำ และวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสูงขึ้น ขณะที่ภาคอาหารก็ยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาหารจานด่วน ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกงข้างถนน และขนมอื่น ๆ เป็นต้น โดยปี 56 ได้ปรับเพิ่มเฉลี่ยไปแล้ว 5 บาท และเชื่อว่าปี 57 นี้ น่าจะทยอยปรับขึ้นเรื่อยอีก เนื่องจากหลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจไทยและโลกน่าจะฟื้นตัว ได้ในช่วงกลางปีหรือหลังจากเทศกาลสงกรานต์ หากรัฐบาลยังเดินหน้าตรึงราคาสินค้าเชื่อว่าจะมีสินค้าหลาย ๆ ประเภทต้องปรับลดขนาดสินค้ามากขึ้น หรือไม่ก็นำสินค้าใหม่ ๆ ที่ปรับปรุงรสชาติใหม่ แล้วปรับขึ้นราคาโดยอ้างว่าได้เพิ่มวัตถุดิบที่มีคุณภาพเข้าไปในผลิตภัณฑ์ และมีต้นทุนจากการวิจัยสินค้าเป็นต้น สินค้าทยอยปรับราคาเฉลี่ย 5% ทั้งนี้ “วชิร คูณทวีเทพ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ประเมินว่า ปี 57 ผู้ประกอบการจำนวนมาก มีแผนที่จะปรับขึ้นราคาสินค้าเฉลี่ย 5% เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตสินค้าจากค่าแรง, วัตถุดิบ, ค่าบริหารจัดการ, ก๊าซหุงต้ม และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นที่จะปรับเพิ่มจาก 18.13 บาทต่อ กก. เป็น 24.82 บาทต่อ กก. ในช่วงเดือน ต.ค. 57 หลังจากที่ในช่วงปี 55-56 ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้มากนัก เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวต่อเนื่อง และยังมีหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด สำหรับการปรับขึ้นราคาสินค้าจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ปรับขึ้นในช่วงต้นปี หลังจากที่ผู้ประกอบการอัดอั้นมานานเพราะตลาดไม่ดี รวมถึงภาครัฐขอความร่วมมือในการตรึงราคาจนถึงสิ้นปี 56 และในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ซึ่งอาจจะปรับมากกว่าในช่วงต้นปี เนื่องจากผลพวงจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลกมีความชัดเจนขึ้นและอานิสงส์การปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยค่าเฉลี่ยสินค้าที่คาดว่าจะปรับขึ้นคือกลุ่มอาหาร และจะปรับขึ้นครั้งละจะอยู่ที่ 5,10,15 บาท แต่หากไม่ปรับราคา ร้านค้าอาจจะใช้วิธีการลดปริมาณอาหารให้น้อยลง ซึ่งต่างจากสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไปที่ปรับขึ้นครั้งละ 1-2 บาท ด้าน “บุญชัย โชควัฒนา” รองประธานกรรมการหอการค้า ไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรปล่อยให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด และไม่ควรใช้มาตรการคุมสินค้า เนื่องจากต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสูงมาก อย่างไรก็ตามยอมรับว่าแนวทางในการปรับตัวคือ ผู้ประกอบการหันไปผลิตสินค้าใหม่ ๆ ในราคาใหม่ ๆ แทน เนื่องจากผู้ผลิตมีต้นทุนการวิจัยและอื่น ๆ อีกมาก ส่วนสินค้าในเครือสหพัฒน์นั้น ในครึ่งแรกปี 57 ยังไม่ปรับขึ้นราคาแน่นอน ส่วนครึ่งหลังของปีนั้น ยอมรับว่าต้องศึกษาภาวะตลาดอีกรอบ แต่ในส่วนของการลดราคานั้น เครือสหพัฒน์ได้จัดกิจกรรมเป็นช่วง ๆ อยู่แล้วไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือเศรษฐกิจไม่ดีก็ตาม ห่วงหมู-ไข่ไก่เขย่าเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ตรวจสอบจากหน่วยงานของภาครัฐในการดูแลสินค้าในปี 57 นั้น ส่วนใหญ่จะกังวลเรื่องของอาหารมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ไข่ไก่ เนื้อวัว เนื้อหมู และอาหารจานด่วนตามศูนย์อาหารตามสถานที่ต่าง ๆ เพราะสินค้าเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนระดับรากหญ้าของประเทศ และที่สำคัญควบคุมยากมาก เพราะเกี่ยวข้องกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ๆ ทุกซอกทุกมุมกว่า 500,000 ราย โดยเฉพาะเรื่องของเนื้อหมู ไข่ไก่ และนํ้ามันพืช ที่จะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยหากราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และที่สำคัญสินค้าทั้ง 3 ชนิดก็มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะทั้งหมดนอกจากจะกระทบต่ออาหารตามบ้านเรือนแล้วยังกระทบต่อราคาอาหารจานด่วนด้วย ทั้งนี้โครงการต้นทุนอาหารจานด่วน (ปรุงสำเร็จรูป 1 จาน) โดยคำนวณจากต้นนํ้า (วัตถุดิบ), กลางนํ้า (ค่าแรง ค่าเช่า ค่าแก๊ส ค่านํ้า ค่าไฟ) และปลายนํ้า (กำไรของร้าน) ที่ภาครัฐและผู้บริโภคพอรับได้ คือ ราคาข้าวแกงไก่จะอยู่ที่ 30 บาทต่อจาน แบ่งเป็นต้นนํ้า 13.47 บาท กลางนํ้า 8.94 บาท และ ปลายนํ้า 7.59 บาท ผัดซีอิ๊วหมู ราคา 30 บาท แบ่งเป็นต้นนํ้า 13.91 บาท กลางนํ้า 8.94 บาท ปลายนํ้า 7.15 บาท, ข้าวผัดหมู 30 บาท แบ่งเป็น ต้นนํ้า 15 บาท กลางนํ้า 8.94 บาท ปลายนํ้า 6.06 บาท, ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น 30 บาท แบ่งเป็น ต้นนํ้า 13.37 บาท กลางนํ้า 8.94 บาท ปลายนํ้า 7.69 บาท, ข้าวกะเพราหมูไข่ดาว 35 บาท แบ่งเป็นต้นนํ้า 19.49 บาท กลางนํ้า 8.94 บาท ปลายนํ้า 6.57 บาท เป็นต้น โดยในราคาดังกล่าวทั้งชาวบ้านและภาครัฐก็รับได้ แต่ปัจจุบันมีการขายเกินราคามาก ซึ่งหลาย ๆ เจ้าได้เพิ่มราคาขึ้นอีก 5 บาท และอาจต้องเพิ่มอีกในปี 57 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นเชื่อว่าในปี 57 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีหน้าที่ในการรับผิดชอบเรื่องนี้หลัก ๆ คงต้องส่งเจ้าหน้าที่ในการลุยตรวจสอบอย่างเข้มงวดแน่ โดยเฉพาะครึ่งหลังของปีที่เศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะฟื้น และค่าครองชีพก็ต้องพุ่งตาม ส่งผลให้บรรดาพ่อค้าแม่จำเป็นต้องปรับราคากลุ่มอาหารอีก 1- 2 ลอตใหญ่ ๆ แน่ ส่งเจ้าหน้าที่คุมเข้มสินค้า “สมชาติ สร้อยทอง” อธิบดีกรมการค้าภายใน มองว่า จากการตรวจสอบผู้ผลิตส่วนใหญ่ในขณะนี้ ยังยืนราคาเดิมอยู่ ส่วนที่ขอปรับยังไม่มาก โดยเฉพาะเรื่องของนํ้ามันพืชที่ได้รับผลกระทบจากราคาปาล์มปรับขึ้นราคาจาก 3.80 บาทต่อ กก. เป็น 6 บาทต่อ กก. หากยังอยู่ในระดับนี้ จะกระทบต่อผู้ผลิตนํ้ามันพืชแน่นอน แต่หากจะให้ราคาตกต่ำลง ก็จะกระทบต่อชาวสวนปาล์ม ดังนั้นก็อยู่ที่การบริหารจัดการเกี่ยวกับปริมาณของปาล์ม เช่น ขอความร่วมมือให้ชะลอการทำนํ้ามันดีเซลบี 7 ออกไปก่อน เป็นต้น ส่วนสินค้าอื่นที่อาจมีราคาสูงบ้าง ก็คงต้องยอมรับว่าบางอย่างเกิดจากการปรับขึ้นค่าแรงงาน ซึ่งมีการขยับต่อเนื่อง วัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น จากภาวะตึงตัวบ้าง อัตราแลกเปลี่ยน และราคาพลังงาน ราคานํ้ามัน ค่าแก๊สที่สูงขึ้น ค่าไฟฟ้า ซึ่งตรงนี้คงต้องติดตามสถาน การณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่สินค้าที่เคลื่อนไหวด้านราคาได้ง่าย ๆ คือ สินค้าเกษตร อาจดูแลได้ยากกว่าสินค้าอุตสาหกรรม เพราะขึ้นกับภาวะอากาศ สิ่งแวดล้อม กระทบต่อผลผลิตช่วงนั้น ๆ มากหรือน้อยกว่าความต้องการบริโภค นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ค่าบริการที่ค่อย ๆ ขยับราคาในอัตราที่สูงขึ้นต่อเนื่อง สังเกตได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ที่ขยับราคาสูงเดือนต่อเดือน จากค่าบริการต่าง ๆ และค่าอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปหารือ และประสานงานกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องค่าบริการ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเช่าห้อง เพื่อหาทางออกว่าจะดูแลกันอย่างไร ขณะที่อาหารจานด่วนที่มีราคาแพงนั้นยอมรับว่า เป็นประเด็นที่คงต้องทบทวน แม้ประชาชนจะร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 ถึงราคาอาหารริมถนนแพงขึ้น และมักไม่ปิดป้ายแสดงราคาที่ชัดเจน สมชาติ ยังระบุว่า แนวทางในการดูแลเรื่องของอาหารจานด่วน เช่น การสั่งการให้เข้าไปเข้มงวดเรื่องการปิดป้ายแสดงราคา แต่ราคากำหนดขายเมนูจานละ 25-30 บาท คงต้องหารือกันว่าอาจต้องขยับขึ้นตามสถานการณ์ความเป็นจริง เพราะการปรับค่าแรงงาน การปรับค่าพื้นที่ ซึ่งมีผลมากต่อต้นทุนอาหารโดยตรง หนีไม่พ้นธงฟ้าราคาถูก อย่างไรก็ตาม นอกจากการส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และการช่วยหามาตรการในการลดต้นทุนของพ่อค้ารายกลางและรายย่อยแล้ว กรมการค้าภายใน ยังเดินหน้ากิจกรรมลดค่าครองชีพ ด้วยการจัดธงฟ้า เพื่อนำสินค้าอุปโภคและบริโภคราคาถูกกว่าท้องตลาด 20-40% มาจำหน่ายให้ประชาชน ซึ่งปี 57 นี้ ได้เตรียมงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท สำหรับการจัดงานธงฟ้าทั่วประเทศ โดยจะมีทั้งงานใหญ่ระดับภูมิภาค และงานธงฟ้าถึงท้องถิ่นทุกอำเภอ กว่า 1,000 ครั้ง คาดว่าจะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าประชาชนได้จำนวนมาก เห็นได้จากในปีงบบประมาณ 56 ที่ได้จัดโครงการไปถึง 2,000 ครั้ง ช่วยลดค่าครองชีพแก่ประชาชนได้ 6 ล้านคน ขณะเดียวกันก็มีร้านอาหารธงฟ้าเกือบ 6,000 ราย ในการเข้าไปจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด แต่ปีนี้คงต้องจับตาให้ดีว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นในช่วงไหนและสินค้าจะปรับราคาอย่างไรบ้าง หลังจากสินค้าหลาย ๆ รายการต่างอัดอั้นกับภาวะต้นทุนที่พุ่งไม่หยุด และนโยบายขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้ามานาน ที่สำคัญ ในช่วงที่เกิดสุญญากาศทางการเมืองในขณะนี้ อาจจะมีหลายรายชิงปรับราคาสินค้ากันไปแล้ว กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นอีกที ชาวบ้านก็ได้รับสิทธิกระเป๋า แฟบกันไปแล้ว. มนัส แวววันจิตร

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ชาวบ้านรับกรรมฉลองปีใหม่จับตาสินค้าพาเหรดขึ้นราคา

Posts related