หลายคนที่ได้ทดลองใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่าน 3จี คงจะ   ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี 3จี ถือว่าช่วยให้การติดต่อสื่อสารมีความ สมบูรณ์มากขึ้น หากย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ที่โทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถโทรฯออก-รับสายได้อย่างเดียว โดยเรียกยุคนั้นว่ายุค 1 จี และใครที่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคนั้น ถือว่าเฟื่องฟูและดูโก้หรูในสายตาคนอื่น ต่อมายุค 2จี การใช้งานไม่ใช่เพียงแค่ โทรฯออก-รับสาย แต่ผู้พัฒนาได้มีการพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สามารถถ่ายรูป ส่งข้อความได้ รวมถึงส่งอีเมลได้ในขนาดไฟล์ที่ไม่ใหญ่มาก เพราะยังติดขัดอยู่ในเรื่องของสัญญาณ ด้วยเทรนด์การใช้งานเทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว คนไทยหรือแม้แต่คนทั่วโลกต้องการเชื่อมต่อระบบสื่อสารได้ตลอดเวลา 3จี ถือป็น พระเอกในยุคปัจจุบันของไทย ด้วยความสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาหากอยู่ในพื้นที่ของโครงข่าย การรับ-ส่ง ข้อมูลที่รวดเร็วแม้ไฟล์ขนาดใหญ่ จึงทำให้การใช้งาน 3จี ไม่ใช่เพียงแค่โทรศัพท์ที่ใช้โทรออก-รับสาย ส่งรูปภาพ ข้อความแต่สามารถพูดคุยแบบเห็นหน้าด้วย การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก่อนยุค 3จี ก่อนที่จะมี 3จี เราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ก ผู้ใช้สามารถท่องเว็บไซต์, ดูคลิปบนยูทูบ, เล่นเฟซบุ๊ก, แชต ผ่านโปรแกรมสนทนาโดยต้องเชื่อมต่อผ่านสาย LAN (Local Area Network) และเครือข่ายไร้สาย (Wireless LAN) โดยภายในอุปกรณ์คอมพ์นั้นต้องมีอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ เช่น LAN Card, Wireless Card มาทำหน้าที่รับ-ส่งข้อมูลที่เราต้องการมาให้กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เมื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นที่นิยมและเป็นเทรนด์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานทำให้กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มีการเติบโตอย่างมหาศาล มีการพัฒนาให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ทุกเวลา จึงพัฒนามือถือให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ในตัว ความเป็นมาของ 3จี และ 4จี คำว่า 3จี ในเรื่องของโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือมาตรฐานการพัฒนาซึ่งแบ่งเป็นยุค ๆ เริ่มตั้งแต่ยุค 1จี โทรศัพท์จะเป็นแบบเซลลูลาร์ที่ออกแบบให้มีลักษณะใหญ่ ผ่านสัญญาณอนาล็อก หรือสัญญาณคลื่นวิทยุซึ่งเกิดในปี ค.ศ. 1981 ยุคต่อมาคือ 2จี เริ่มในปี ค.ศ. 1992 โดยเปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิทัล ถือเป็นการนำสัญญาณเสียงมาบีบอัดให้เล็กลงจนเป็นสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาในปี ค.ศ. 2001 ญี่ปุ่นเริ่มมีการใช้โทรศัพท์ 3จี เป็นที่แรก โดยจุดเด่นของ 3จี คือรับส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น ในจุดเด่นก็ยังมีจุดด้อยเสมอ ในประเทศไทยช่วงก่อนเปิด  ประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้     ปรับปรุงเทคโนโนยี 3จี โดยการเปลี่ยนจาก 2จี เป็น 2.5จี จนมาเป็น  2.9จี เช่น สามารถถ่ายภาพอัพโหลดขึ้นเฟซบุ๊กได้ทันที แต่การอัพโหลดภาพต่าง ๆ ยังต้องใช้เวลานาน แต่ถ้าเป็น 3จี คลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์การอัพโหลดไฟล์ภาพจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและทันที ต่อมาช่วงปลายปี 55 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัด           ให้มีการประมูลใบอนุญาต 2.1 กิกะเฮิรตซ์ โดยเอกชนผู้ให้บริการในประเทศไทยทั้ง 3 รายใหญ่ ประกอบด้วย กลุ่ม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), กลุ่ม บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ไลเซนส์และพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายไตรมาส 1/56 เฉพาะพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ และพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในจังหวัดใหญ่ ๆ ก่อนทยอยขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทุก 77 จังหวัด ประโยชน์ของเทคโนโลยี 4จี 4จี หรือ โทรศัพท์ยุคที่ 4 ที่เรียกกันว่า Long Term Evolution : LTE เป็นชื่อเรียกที่รู้จักกันว่า เป็นเทคโนโลยีอนาคต ที่ต่อยอดจาก 3จี สามารถตอบสนองการใช้งานบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง โดยทำความเร็วตั้งแต่ 100 Mbps–1024 Mbps (1Gbps)ถือว่าเร็วกว่า 3จี ถึง 7 เท่า ด้วยความเร็วของ 4จี ที่เร็วแรงกว่า 3จี นี้ การให้บริการ 4จี ผ่านตัวจับสัญญาณ (Wifi Adaptor) จะทำให้เพิ่มโอกาสในการเข้าถึง อินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพียงมีแอร์การ์ด 4จี และ Wifi Adaptor เมื่อเชื่อมต่อก็แชร์สัญญาณ 4จี เพื่อให้ใช้พร้อมกันกับอุปกรณ์ที่รองรับสัญญาณ ไวไฟ ได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ 4จี ยังสามารถส่งไฟล์วิดีโอความละเอียดสูง และการถ่ายทอดสด แบบเรียลไทม์ ของการประชุมทางไกล ให้สามารถโต้ตอบแบบทันที ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้นำเทคโนโลยี   4จี มาให้บริการ เพื่อสนับสนุนการเรียนผ่านทางอีเลิร์นนิ่ง, การรักษา    โรคทางไกล (Telemedicine) และรวมไปถึงการชมภาพยนตร์ความละเอียดสูงบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเหมาะสำหรับการทำธุรกิจด้านมัลติมีเดียและวิดีโอออนไลน์ในอนาคต 4จี จะเป็นเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงชนิดพิเศษ หรือเป็นเส้นทางด่วนสำหรับข้อมูลที่ไม่ต้องอาศัยการลากสายเคเบิล โดยระบบใหม่นี้จะสามารถใช้งานได้แบบไร้สาย รวมถึงคุณสมบัติการเชื่อมต่อเสมือนจริงในรูปแบบสามมิติระหว่างผู้ใช้โทรศัพท์ด้วยกันเอง กทค.ชี้ 3จี 4จี หนุนทุกภาคส่วน ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ เลขานุการประจำรองประธาน กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ (กทค.) เล่าว่า 3จี เป็นเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ทำให้มีการส่งข้อมูลไปควบคู่กับการให้บริการเสียง จะทำให้มีพัฒนาการในด้านการบริการด้านบริการสื่อสารมากขึ้น เช่น บริการด้านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ด้านอีคอมเมิร์ซ การเสิร์ชอินเทอร์เน็ตในการหาข้อมูลต่าง ๆ แต่ด้วยพัฒนาการของ 3จี จะยังมีข้อจำกัดในการรองรับบริการที่เกี่ยวกับทางด้านวิดีโออยู่ ทั้งนี้้ ด้วยความสามารถในการจัดการความถี่ที่จำกัดอยู่เพียง 5 เมกะเฮิรตซ์ต่อช่อง ทำให้ความเร็วของ Mbit/s ยังจำกัดอยู่ ข้อจำกัด ทางด้าน 3จี ในเรื่องให้บริการวิดีโอ ที่มีข้อจำกัดตามความถี่ แต่ใน 4จี   มีความสามารถในการจัดการความถี่ได้สูงถึง 20 เมกะเฮิรตซ์ ต่อช่อง      จะทำให้ความเร็ว Mbit/s เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้บริการวิดีโอเพิ่มมากขึ้น บริการใหม่บน 4จี ที่มีความ แตกต่างจาก 3จี ก็จะมีมากขึ้นด้วย นอกเหนือเกี่ยวกับเรื่องวิดีโอ ในเรื่องของบริการเสียง ด้วยความเร็วที่สูงมากขึ้น บริการเสียงบน 4จี สามารถให้บริการที่เรียกว่า HD Voice โดยเสียงจะมีความคมชัดมากกว่าบริการเสียงบนโครงข่าย 3จี 2จี ในอดีตเป็นอย่างมาก และปัจจุบันนี้ในบางประเทศเริ่มเปิดให้บริการแล้ว ด้วยความสำเร็จของการเติบโตของภาคธุรกิจที่มาจากเทคโนโลยี 3จี เชื่อว่า เมื่อประเทศไทยมีบริการ 4จี อย่างเต็มรูปแบบ การซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คงจะเติบโตอีกมหาศาล. …………………………………………. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ปี 56 มีแนวโน้มโตประมาณ 25% ถึง 30 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.32 ถึง 1.35 แสนล้านบาท โดยปัจจัยหนุนสำคัญคือการเปิดให้บริการ 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมการทำกิจกรรมออนไลน์และความเชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้น            – ราคูเท็น ตลาดดอทคอม โดยนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง ราคูเท็น ตลาดดอทคอม เชื่อว่าเครือข่าย 3จี ที่ครอบคลุมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยโตขึ้น อย่างก้าวกระโดด โดยโมบาย แพลตฟอร์ม จะเป็นช่องทางที่ผู้คนหันมาค้นหา และซื้อสินค้ามากขึ้น ได้ทุกที่ทุกเวลา – จากการสำรวจของ “ราคูเท็น” พบว่า คนไทย 47.5% เริ่มซื้อสินค้าออนไลน์ครั้งแรกช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และจากข้อมูลพฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนไทยในเว็บตลาดดอทคอม พบว่า สินค้าประเภทเสื้อผ้า แฟชั่น ยังนิยมซื้อทางออนไลน์มากสุด รองลงมา คือ อาหารเสริมและนาฬิกา กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : “3จี-4 จี” กับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทย

Posts related