นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้จัดทำข้อเสนอแนะถึงกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปพิจารณา แม้ว่าล่าสุดกฎหมายกู้เงินลงทุนจะไม่สามารถผลักดันได้เสร็จในรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โดยตามข้อเสนอเห็นว่า หากรัฐบาลจะผลักดันโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการก่อนคือ กระทรวงคมนาคมต้องตั้งกรมขนส่งทางรางขึ้น เพื่อให้การขนส่งทางรางสามารถแข่งขันกับการขนส่งทางถนนได้ โดยให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมควรให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า แต่ละพื้นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอะไรบ้าง  โดยเฉพาะกรอบระยะเวลา โครงการใดที่ยังอยู่นอกแผน หรือยังไม่ชัดเจนก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน และควรแก้ไขกฎระเบียบ-ข้ออำนวยความสะดวกทางการค้า-บริการ โดยเฉพาะส่วนที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน  เพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานและงานสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ต่างๆ รวมถึงสนับสนุนจัดทำแผนส่งเสริมให้มีการลงทุนตามเส้นทาง และต้องพัฒนาสถานีรถไฟ และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการจ้างงาน และการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะเดียวกันยังต้องบูรณาการเชื่อมโยงระบบถนนเข้ากับระบบราง เร่งการก่อสร้างรางเพื่อเชื่อมโยงกับการขนส่งทางรางเข้าไปสู่ท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากสนามบินของจังหวัดที่รถไฟความเร็วสูงผ่าน และพัฒนาลานจอดรถรองรับรถไฟความเร็วสูง รวมถึงมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีให้ประชาชนในชนบทสามารถเข้าถึงประโยชน์จากระบบขนส่งมวลชนรถไฟความเร็วสูงได้ พร้อมจัดระบบขนส่งและจราจร รวมทั้งด้านความปลอดภัยในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่างรวมทั้งชายฝั่งทะเล  รวมทั้งการป้องกันสารปนเปื้อนลงไปในลำน้ำ นอกจากนี้ควรสร้างจุดพักรถสำหรับรถบรรทุก พร้อมกับกำหนดระยะเวลาที่พนักงานขับรถจะต้องจอดพัก เช่น ทุก 250 กิโลเมตร ทั้งรถบรรทุกและรถโดยสาร เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งศึกษาผลกระทบจากการเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของภูมิภาค เพราะจะมีสินค้าขนส่งผ่านแดนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทย และผ่านจากประเทศไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่สามเพิ่มขึ้นอย่างมาก อีกทั้งให้ชะลอการบังคับใช้ผังเมืองจังหวัดใหม่ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และการทบทวนเมืองศูนย์กลางด้วย ทั้งนี้ยังต้องกำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ โดยระบุไว้ในทีโออาร์ให้ผู้รับเหมา หรือ ผู้บริหารโครงการ ขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องให้ความสำคัญต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เช่น การปรับปรุงถนนสายหลัก ตั้งแต่สุไหงโกลก  นราธิวาส  ยะลา  ปัตตานี และสายเบตง-ยะลา ควรเป็นถนนคอนกรีต 4 ช่องจราจร  เพื่อให้เป็นเส้นทางขนส่งและมีความปลอดภัยจากการก่อการร้าย และพิจารณาใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูปในการก่อสร้างระบบรางทางคู่ โดยใช้ยางสำหรับทำรอยต่อของรถไฟ นายอุทัย กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยังต้องส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เพื่อให้เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบด้านสังคม เช่น ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย  ควรจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการพัฒนาพื้นที่ ควรพิจารณาประเด็นเชิงสังคม ถึงผลกระทบในแหล่งทำกิน และหรือที่อยู่อาศัยของชุมชนด้อยโอกาสเหล่านั้น และจัดให้มีกลไกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งเชิงพื้นที่ รวมถึงให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวอย่างแท้จริงด้วย  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สภาที่ปรึกษาฯแนะตั้งกรมขนส่งทางราง

Posts related