นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า ในปี 56 ประเทศไทยสามารถผลิตกุ้งเลี้ยงได้ประมาณ 250,000 ตันลดลงจากปีก่อน 54% เนื่องจากประสบปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (อีเอ็มเอส) จนผู้เลี้ยงกุ้งยอมพักบ่อเลี้ยงทั่วประเทศ 70% ส่งผลให้ไทยเสียแชมป์ประเทศผู้ผลิตกุ้งมากที่สุดในโลกให้แก่จีนน่าจะผลิตได้ 300,000 ตัน อินเดีย 270,000 ตัน ดังนั้นสมคมอยู่ระหว่างร่วมมือกับภาครัฐ ภาควิชาการทั้งในและต่างประเทศ และเกษตรกร ในการแก้ปัญหาโรคอีเอ็มเอสและคาดว่าภายใน 2 ปีไทยน่าจะกลับมาเป็นผู้ผลิตกุ้งมากที่สุดในโลกในระดับ 500,000 ตัน “การพักบ่อเลี้ยงกุ้ง 70% ไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรขายบ่อกุ้งแล้วไปทำอย่าง แต่ก็จะชะลอการเลี้ยงกุ้ง เพราะหากเลี้ยงช่วงเกิดโรคอีเอ็มเอสก็จะยิ่งทำให้ขาดทุน ซึ่งตอนนี้ทุกฝ่ายอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาเพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงกุ้งอีกรอบ โดยเฉพาะการคึกษาค้นคว้าวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ “ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณการผลิตกุ้งเลี้ยงของโลกในปี 56 ลดลงเหลือประมาณ 1.8 ล้านตัน หรือลดลงจากปีก่อน 11%  แต่ก็ทำให้ราคากุ้งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว แต่หากเทียบปริมาณการส่งออกกุ้งประเทศไทยน่าจะเป็นผู้ส่งออกมากเป็นอันดับ 1 เพราะจีน อินเดีย ส่วนใหญ่ก็จะมีการเน้นบริโภคในประเทศจำนวนมาก สำหรับข้อมูลการผลิตกุ้งเลี้ยงของโลกใน 5 ปี (52-56) พบว่า ในปี 52-55 ไทยสามารถเป็นแชมป์การผลิตได้มากที่สุดในทุกปี โดยในปี 52 ผลิตได้ 563,000 ตัน รองลงมาเป็นจีน 560,000 ตัน เวียดนาม 200,000 ตัน,  ในปี 53 ไทยผลิตได้ 640,000 ตัน รองลงมาเป็นจีน 600,000 ตัน เวียดนาม 215,000 ตัน, ปี 54 ไทย 600,000 ตัน จีน 565,000 ตัน เวียดนาม240,000 ตัน, ปี 55 ไทย 540,000 ตัน ตัร 450,000 ตัน อินเดีย 190,000 ตัน ส่วนการส่งออกในปี 56 คาดว่าทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 200,000 ตันมูลค่า 60,000-70,000 ล้านบาท โดยช่วง 10 เดือนของปี (ม.ค.-ต.ค.) สามารถส่งออกได้ 175,713 ตัน ลดลง 38.4% มูลค่า 56,274 ล้านบาท ลดลง 28.89%   ส่วนในปี 57 คาดว่าส่งออกกุ้งไทยจะเพิ่มจากปี 56 ประมาณ 20% เนื่องจากประเทศไทยน่าจะมีผลผลิตกุ้งเลี้ยงได้ประมาณ 300,000-320,000 ตัน เพราะราคากุ้งที่ปรับตัวสูงจนจูงใจเกษตรกรร่วมมือกับฝ่ายต่างๆในการแก้ปัญหาซึ่งตอนนี้หลายๆพื้นที่ก็เริ่มฟื้นตัวผลิตกุ้งได้มากขึ้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมได้ทำหนังสือไปยังกรมประมงให้พิจารณาการนำเข้ากุ้งเลี้ยงเพิ่มจากต่างประเทศประมาณ 20,000 ตันต่อเดือนอย่างรอบคอบเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการแปรรูปกุ้ง  โดยขอให้กรมฯยับยั้งเฉพาะในส่วนการนำเข้าจากประเทศที่มีโรคระบาดกุ้ง เช่น อินโดนีเซียจากเดิมเคยมีปัญหาการระบาดอย่างรุนแรงของโรคกุ้งทะเล (ไอเอ็มเอ็น) เป็นเวลา 3 ปีแล้วเพราะหากนำเข้าสมาคมฯเกรงว่าจะมาระบาดในไทยต่อในอนาคต นายบรรจง นิสภวาณิชย์ กรรมการบริหารสมาคมฯและนายกสาคมกุ้งตะวันออกไทย กล่าวว่า แม้จะประสบปัญหาโรคระบาดในกุ้ง แต่ราคากุ้งอยู่ในระดับสูงทำให้สามารถพยุงอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งต่อไปได้ เกษตรกรก็ยังมีกำลังใจที่จะคิดหาวิธีการในการเลี้ยงกุ้งที่ประสบความสำเร็จ นายสมชาย ฤกษ์โภคี กรรมการบริหารสมาคมฯ และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปี 57 ผลผลิตกุ้งโดยรวมของไทยน่าจะดีขึ้นจากแนวทางการเลี้ยงรูปแบบต่างๆ จากนักวิชาการ อย่างไรก็ตามจากปัญหาโรคระบาดทำให้การเลี้ยงกุ้งมีความยากมากขึ้น เพราะมีต้นทุนสูงกว่าเดิมจึงขอให้ห้องเย็นทั้งหมดช่วยกันนำสินค้าที่มีคุณภาพไปแข่งขันในตลาดโลกให้ได้ราคาสูงๆ แทนที่จะมีการแข่งตัดราคากันเอง “สถานการณ์เลี้ยงกุ้งภาคใต้ฝั่งตะวันออก  ต้องเผชิญกับโรคระบาดอีเอ็มเอสทั้งปีทำให้ผลผลิตลดลงกว่า 60% โดยในพื้นที่มีการเลี้ยงกุ้งลดลงเหลือ 30% ของพื้นที่ที่เคยเลี้ยง โดยผลผลิตภาคใต้ฝั่งตะวันออกอยู่ที่ 63,900 ตัน”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ไทยตกบัลลังก์แชมป์โลกผลิตกุ้ง

Posts related