นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง เกี่ยวกับความคืบหน้าแผนการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน ด้วยการให้นิติบุคคลจดทะเบียนเป็นบริษัทสินเชื่อธุรกิจรายย่อย(บย.) เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนนำไปประกอบอาชีพว่า  เตรียมเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เป็นผู้พิจารณาว่าสามารถดำเนินโครงการได้หรือไม่ เพราะเห็นว่าโครงการเป็นประโยชน์กับประชาชนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นและช่วยแก้ปัญหาการกู้เงินนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบเพิ่มขึ้น “ นายกิตติรัตน์ให้ สศค. เป็นคนตัดสินใจว่าทำหรือไม่  ซึ่งสศค.เห็นว่าจำเป็นต้องทำโครงการนี้  เพราะโครงการไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือนโยบายของรัฐบาล โดยยอมรับว่าปัญหาหนี้นอกระบบไม่ได้รับการดูแลมาเป็นเวลานานแล้ว และหากกกต.เห็นชอบก็จะดำเนินการได้ทันทีไม่จำเป็นต้องรอให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จ” นอกจากนี้จะต้องรอประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดให้ บย.เป็นสถาบันการเงิน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อัตราดอกเบี้ยเพื่อให้สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้เกิน 15% แต่ไม่เกิน 36%รวมค่าธรรมเนียมและค่าปรับ และหลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะต้องออกประกาศเพื่อให้ใบอนุญาตเจ้าหนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายซึ่งประกาศดังกล่าวจะอ้างอิงประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (ปว.58) สำหรับหลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้เบื้องต้นจะกำหนดให้เป็นการปล่อยกู้เพื่อการประกอบอาชีพรายละไม่เกิน 100,000บาทอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี  พร้อมกำหนดพื้นที่ในการทำธุรกรรมสินเชื่อโดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็น บย. จะต้องปล่อยกู้ภายในจังหวัดเท่านั้น ห้ามปล่อยกู้ข้ามจังหวัด  และต้องตรวจสอบข้อมูลของผู้กู้ว่าเป็นการกู้เพื่อนำไปประกอบธุรกิจจริงหรือไม่อย่างไรก็ตาม  ก่อนหน้านี้ตัวเลขอ้างอิงการขึ้นทะเบียนลูกหนี้นอกระบบในปี 52-53 มีจำนวน 1.2 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 120,000ล้านบาท

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สศค.ลุยตั้งบย.แก้หนี้นอกระบบ

Posts related