นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ​ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 57 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เรื่องโจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้ไปโลด ว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจไทยได้ผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยในระยะสั้นมี 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย ปัญหาความต้องการของตลาดลดลง, อัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินที่ผันผวน, อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะตกต่ำลง เช่น ราคาทองคำและราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร หากมีราคาตกต่ำจะกระทบรายได้ของเกษตรกรและประเทศ “ทิศทางเศรษฐกิจของยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ที่มีเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 65% ของเศรษฐกิจโลก ที่ยังไม่มีความชัดเจนในการฟื้นตัว โดยเฉพาะมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ไม่มีความแน่นอนจะปรับลดหรือไม่นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทผันผวนในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้ง เดือน ก.พ.57 ยังมีปัญหานโยบายการคลังของสหรัฐ เกี่ยวกับเพดานหนี้ ที่จะทำให้ดอกเบี้ยระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อดอกเบี้ยระยะยาว ทำให้การกู้เงินของผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบ โดยปัจจัยเสี่ยง 4 เรื่องดังกล่าว จะยังถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงและความผันผวนในระยะสั้นเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงทั้งในระยะปานกลาง และระยะยาวด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องเตรียมรับมือ” น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า ในเดือนธ.ค.นี้ ธนาคารโลกเตรียมปรับประมาณเศรษฐกิจไทยในปี 56 ลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4% รวมถึงตัวเลขการส่งออกปรับลดลงเหลือ 1% จากเดิม 2.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมาก ส่งผลกระทบให้การส่งออกและเศรษฐกิจไตรมาส 3 ชะลอลง ส่วนปี 57 มองว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน ซึ่งกระทบต่อตลาดการเงินโลกให้มีเงินไหลเข้าออกในระดับสูงขึ้น ขณะที่ ปัจจัยในประเทศยังต้องจับตา คือ การลงทุนของภาครัฐทั้งการเบิกจ่ายทั้งในและนอกงบประมาณ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายในโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หากรัฐบาลสามารถเดินหน้าเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายก็จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สศค.เตือน 4 ปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทย

Posts related