นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ว่า  คสช. มอบนโยบายเร่งด่วน ให้กระทรวงพาณิชย์ทำแผนดูแลค่าครองชีพเพื่อดูแลปัญหาปากท้องของประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อนรวมถึงแผนผลักดันเศรษฐกิจพื้นฐานให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ภายใตัการบูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงาน  ก่อนที่จะเสนอให้ คสช. พิจารณาอีกครั้ง    “แผนต่างๆคาดว่าจะเสร็จภายใน 2-3 วันก่อนที่จะเสนอ คสช. พิจารณา โดยในประเด็นการดูแลค่าครองชีพนั้นยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น ซึ่งตามเป้าหมาย อัตราเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้จะอยู่ที่กรอบ 2-2.8% เบื้องต้นแม้จะต่ำกว่าที่หน่วยงานต่างๆ ที่คาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นเกินกว่า 3% นั้น แต่กระทรวงพาณิชย์จะพยายามควบคุมเพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่กำหนดไว้” สำหรับสถานการณ์การส่งออกไทยในปี 57 นั้นกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดเป้าการขยายตัวจากเดิม 5%เหลือ 3.5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ เช่น การกีดกันทางการค้า และอุปสรรคเกี่ยวกับต้นทุนต่างๆ    ดังนั้นช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้  ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทูตพาณิชย์ และเอกชน พยายามเร่งผลักดันการส่งออกในทุกๆด้านอย่างเต็มที่  นางศรีรัตน์ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้ระบบการค้าเสรี ยังคงเดินหน้าต่อ แต่จะยังไม่มีการทำสัญญาใหม่ใดๆ ทั้งการ เจรจาการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ซึ่งยังต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจาก คสช.ก่อน ส่วนสัญญาที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้า ก็ให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการประมูลข้าว ยังไม่ดำเนินการ เพราะต้องรอผลการตรวจโกดังข้าวทั่วประเทศก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจน ภายในสัปดาห์หน้า     ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแผนงานเร่งด่วนที่กระทรวงพาณิชย์นำเสนอต่อพล.อ.ฉัตรชัย  เช่น การตั้งคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.), , การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ส่วนการดูแลค่าครองชีพประชาชนนั้นก็จะเน้นจัดมหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคคุณภาพดีราคาถูก,  จัดมหกรรมการจำหน่ายสินค้ามาตรฐานส่งออกภายในประเทศ และ จัดศูนย์ร้องเรียนและสายตรงเพื่อตรวจสอบราคาสินค้าในตลาดอย่างเข้มข้น  นายสุรศักดิ์  เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ  กล่าวว่า ยอดการส่งออกสินค้าไทยภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ในช่วง 3เดือนของปี 57 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 12,578.37ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.17 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการใช้สิทธิ 12,432.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีการใช้สิทธิเอฟทีเอในการส่งออกมูลค่าดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 70.88 % จากยอดสินค้าที่ได้รับสิทธิเอฟทีเอทั้งหมด         ทั้งนี้ การส่งออกภายใต้เอฟทีเอของไทยแยกเป็นรายประเทศ พบว่าไทย-ออสเตรเลีย มีการใช้สิทธิสูงถึง97.88 % หรือใช้สิทธิมูลค่า 1,716 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  ไทย-จีน ใช้สิทธิ 89.13 % หรือมูลค่า3,539 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทย-เกาหลี ใช้สิทธิ72.52 % หรือมูลค่า 524 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทย-ญี่ปุ่น ใช้สิทธิ 72.44 %   ไทย-อินเดีย ใช้สิทธิ61.99 % หรือมูลค่า 645.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทย-อาเซียน ใช้สิทธิ 58.36 % หรือมูลค่า4,628.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  เป็นต้น “ยอดการใช้สิทธิเอฟทีเอของบางประเทศที่ดูเหมือนลดลง เป็นเพราะสินค้าส่วนใหญ่ได้ลดภาษีลงมาเหลือ 0% แล้ว แต่ก็ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ภาษียังไม่เหลือ 0 % ซึ่งกรมฯ อยากให้ผู้ส่งออกที่จะส่งออกไปยังประเทศที่มีข้อตกลงเอฟทีเอเหล่านี้  ทำการศึกษาให้ดีว่าสินค้าที่จะส่งออกนั้น ได้รับสิทธิลดภาษีภายใต้เอฟทีเอหรือไม่ ถ้าได้ก็ควรจะใช้สิทธิ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและลดต้นทุนในการส่งออก” 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สั่งพาณิชย์ทำแผนดูแลค่าครองชีพ

Posts related