ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีชาวนาในภาคกลางเริ่มทะยอยนำใบประทวนจากโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 56/57 ไปจำนำหรือไปขายให้กับผู้ประกอบการโรงสี หรือ เจ้าแม่เงินกู้นอกระบบในราคาตันละ 8,000 – 9,000 บาท เนื่องจากหลายรายที่นำข้าวเข้าโครงการรับจำนำ ยังไม่ได้รับเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้ง ๆ ที่ชาวนานำข้าวไปจำนำตามขั้นตอนปกติ ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลเร่งกลไกที่เกี่ยวข้องจ่ายเงินให้ชาวนาเพื่อลดความเดือดร้อน ทั้งนี้ยอมรับว่าชาวนาส่วนใหญ่ต้องการเงินด่วนเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว และเร่งจ่ายหนี้เงินกู้ทั้งในและนอกระบบ โดยเฉพาะเงินกู้เงินนอกระบบที่คิดดอกเบี้ยเป็นรายเดือนในอัตราที่สูง หากยิ่งนำเงินไปชำระล่าช้าก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นจำนวนมหาศาล “ชาวนาต้องมีภาระเรื่องของเจ้าของที่นาทวงค่าเช่าที่นา ค่าปุ๋ย ค่าทำนา และค่าดอกเบี้ย โดยเฉพาะเรื่องของเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง ดังนั้นจึงนำไปขายใบประทวนกับเจ้าของเงินกู้นอกระบบที่ตนเองกู้มาเพื่อต้องการตัดปัญหาดอกเบี้ยที่แพง ส่วนผู้ที่กู้ ธ.ก.ส. ก็คงเดือดร้อนน้อยกว่าคนกู้นอกระบบ” ว่าที่ร.อ.จิตร์ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมีหลายฝ่ายออกมาเสนอแนะว่าเป็นโครงการที่สร้างภาระงบประมาณแก่ประเทศชาติ และยังเป็นการทำลายวงการข้าวของไทยทั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่เมื่อรัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าแล้ว ต้องเร่งหาเงินมาจ่ายให้ชาวนาที่นำข้าวเข้าโครงการรับจำนำโดยเร็วไม่ว่าด้วยวิธีใด ทั้งการกู้หรือการใช้งบประมาณ เพราะหากวงเงินไม่ถึงชาวนาก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคกลางได้ลำบาก “ในไตรมาส 4 นี้ เศรษฐกิจของภาคกลางยังชะลอตัว ซึ่งนอกจากการวิตกเรื่องของสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว ยังพบว่า โครงการรับจำนำข้าวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของภาคกลางยังไม่สามารถทำงานได้ เพราะชาวนาส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงินครบตามจำนวนได้นำข้าวไปจำนำไว้ เนื่องจากรัฐบาลประสบปัญหาเรื่องของเงินและส่วนหนึ่งคงรอเงินจากการขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์” ด้านนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่เกษตรกรยังไม่ได้เงินในโครงการรับจำนำข้าวนั้นเป็นเรื่องของ ธ.ก.ส. ที่ไม่จ่ายเงินตามกำหนดเวลา ซึ่งต้องไปสอบถาม ธ.ก.ส. ถึงสาเหตุการหยุดจ่ายเงิน เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลเรื่องการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่นำข้าวมาเข้าร่วมโครงการ ขณะนี้ได้มีการประชุมเชิงปฎิบัติการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟท) ซึ่งคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือ ก.ส.ล. จะเร่งรัดพัฒนาให้การซื้อขายเกษตรล่วงหน้า หรือ เอเฟท เพื่อให้เป็นเครื่องมือ และเป็นแนวทางแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องมาซื้อสินค้าเกษตร โดยที่ผ่านมาการขายข้าวในตลาดเอเฟทอาจจะแผ่วลงไปบ้าง แต่ก็เคยประสบความสำเร็จในการขายยางพารา จึงจำเป้นต้องมาหารือ เพื่อหาแนวทางให้ระบายข้าวในช่งทางนี้เพิ่มมากขึ้น

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สุดอั้น ชาวนาแห่นำใบประทวนจำนำข้าวกู้เงินนอกระบบ

Posts related