ใกล้เข้ามาทุกขณะแล้วกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ที่หลายคนหลายฝ่ายต่างให้ความสนใจเพราะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม แม้ว่าในหลายอุตสาหกรรมไทยจะเสียเปรียบ เพราะมีต้นทุนการผลิตที่แพงและผู้ประกอบการอาจไม่มีความพร้อม แต่ก็มีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ไทยมีความได้เปรียบ เพราะมีความเป็นสากลจนเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก โดยเรื่องนี้ “กมลธัญ พรไพศาลวิจิตร” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกในรายการ “เศรษฐกิจติดจอ” ทางเดลินิวส์ทีวีเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า  ตลาดทองคำของไทยในปัจจุบันถือเป็นตลาดที่มีปริมาณการซื้อขายที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน สถิติการนำเข้าทองคำปีที่ผ่านมา ไทยนำเข้าทองคำสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากจีน และอินเดีย อีกทั้งเป็นผู้นำเข้าทองคำสูงสุดที่ 6 ของโลกอีกด้วย ขณะที่ด้านคุณภาพ ทองคำไทยยังได้รับการยอมรับในอาเซียนว่าเป็นทองคำที่มีคุณภาพสูงสุด เพราะมีความบริสุทธิ์ของเนื้อทองคำถึง 96.5% หรือ 23 เค มากกว่าชาติอื่นในอาเซียนที่มีทองคำบริสุทธิ์เพียง 92% หรือเท่ากับทอง 21 เค เท่านั้น ดังนั้นในแง่ทั้งปริมาณและคุณภาพ ไทยจึงถือว่าโดดเด่นที่สุดในอาเซียน ขณะเดียวกันเมื่อมองไปถึงศักยภาพของผู้ค้าทองคำในไทย ยังมีความพร้อมในการแข่งขันกันมาก โดยปัจจุบันมีร้านขายทองทั่วประเทศมากกว่า 7,000 แห่ง และยังมีการรวมตัวเป็นสมาคมค้าทองคำที่เข้มแข็ง มีเครื่องมือกำหนดมาตรฐานการค้า คุณภาพทองคำ และการเป็นกระบอกเสียงเจรจากับภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าในภาพรวมแล้วไทยดูจะเข้มแข็งหรือมีความได้เปรียบ  แต่การที่ไทยจะก้าวไปเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำของอาเซียนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการซื้อขายทองคำในประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างเป็นอิสระ ไม่ได้มีกลไกการควบคุมคุณภาพและราคาแน่ชัด ดังนั้นการรวมกลุ่มเป็นสมาคมขนาดใหญ่ รวมถึงการควบคุมมาตรฐานทองคำให้เป็นแบบเดียวกันทั้งภูมิภาคคงทำได้ยาก ที่สำคัญยังติดขัดในเรื่องกำแพงภาษีที่แต่ละประเทศตั้งภาษีนำเข้าทองคำไว้สูง และหลายประเทศไม่นิยมเก็บทองคำไว้เป็นสินทรัพย์ สิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือ…การพยายามหันไปผลักดันการส่งออกทองคำ ในรูปแบบของเครื่องประดับมากขึ้น เชื่อว่าจะมีโอกาสเติบโตมาก แต่ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับการแข่งขันด้วย โดยเฉพาะการออกแบบดีไซน์ ให้มีความหลากหลายตรงกับความต้องการ รสนิยมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันมากขึ้น เพราะแม้ไทยมีจุดแข็งจากคุณภาพทองคำที่สูง แต่ก็มีราคาแพงจากต้นทุนค่าแรงสูงเช่นกัน! ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้จังหวะการเปิดเออีซี ในการเสาะหาแรงงานประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาช่วยผลิตทองคำเพิ่ม เพื่อลดต้นทุน และแก้ปัญหาแรงงานผลิตทองคำในไทยที่ขาดแคลน โดยเฉพาะแรงงานจากลาวที่มีวัฒนธรรม และฝีมือการผลิตลวดลายทองคำคล้ายคลึงกับไทย แต่การที่จะออกไปขยายฐานการผลิตและเปิดสาขาค้าทองคำในประเทศเพื่อนบ้านหลังเออีซี ยังไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย เช่น ประเทศพม่า แม้จะมีทรัพยากรเหมืองทองคำอยู่มาก แต่เส้นทางการคมนาคมขนส่ง ระบบโครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ยังมีไม่สูง ดังนั้นหากคิดเริ่มลงทุนในต่างแดน ควรหาพันธมิตรธุรกิจที่เป็นคนท้องถิ่นเข้าร่วม จะช่วยลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจต่างแดนได้ ส่วนแนวความคิดในการจัดตั้ง “ตลาดรองเพื่อการซื้อขายทองคำ” เหมือนในต่างประเทศ สำหรับใช้เป็นกลไกกำกับการซื้อขายทองให้เกิดประสิทธิภาพ ยังเชื่อว่าไม่น่าเกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะผู้ลงทุนต้องมีความเชี่ยวชาญสูง ดังนั้นสำหรับคนไทยจึงอาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ขณะที่ประเด็นเรื่องราคาทองคำหลังเปิดเออีซี มองว่าจะไม่มีผลให้ราคาทองคำในไทยเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพราะทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าความเป็นกลางสูง โดยปรับขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ เช่น เศรษฐกิจแย่นักลงทุนก็หันมาซื้อทองคำเก็บไว้ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยความเสี่ยงน้อยสุด ย่อมทำให้ราคาทองคำในตลาดแพงขึ้นได้ ฉะนั้นราคาทองคำในประเทศไทย ยังจะอ้างอิงและคำนวณจากราคาทองคำในตลาดโลกเป็นหลัก แต่สิ่งที่ระมัดระวังคืออาจมีทองคำคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอยู่ในตลาด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีอยู่แล้ว จึงต้องระมัดระวังดูให้ดี เพราะทองคำจากเพื่อนบ้านแม้ราคาถูกกว่า แต่คุณภาพก็ด้อยกว่าไทยด้วย การเลือกซื้อที่ดี จึงควรเลือกซื้อตามร้านที่มีตัวตนจะปลอดภัยกว่า โดยวิธีดูเบื้องต้นสังเกตจากสีทองจะไม่เหลืองอร่ามเหมือนทองคำทั่วไป หรือสามารถไปตรวจสอบตามร้านค้าทอง ซึ่งจะพิสูจน์แยกแยะได้ชัดเจน… ข้อมูลเหล่านี้… ถือเป็นทิศทางของทองคำในอนาคต หากใครต้องการหาข้อมูลเชิงลึก หรือต้องการติดตามสถานการณ์ ข้อมูล
แนวโน้มราคาทองคำ รวมถึงผลงานวิชาการก็สามารถคลิกไปดูได้ที่ http://business.utcc.ac.th/ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : อนาคตตลาดทองคำหลังเออีซี – เออีซีกับ ม.หอการค้าไทย

Posts related