ว่ากันว่าเครื่องดื่มที่ดีนั้นจะต้องมาจากวัตถุดิบที่ดีด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ลำน้ำหล่มด้ง แหล่งน้ำที่เกิดจากการยุบตัวของภูเขาไฟ จะทำให้สุราพื้นบ้านของชุมชนสะเอียบที่สืบทอดมากว่า 200 ปี จะได้รับการยอมรับว่าเป็นเหล้าขาวที่ดีที่สุด และจังหวัดแพร่ก็กำลังมีแผนที่จะผลักดันให้สุราพื้นบ้านชนิดนี้ก้าวขึ้นมาเป็นสินค้าที่ระลึกซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นหลัก ข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยตำบล ระบุว่า การต้มสุราในสมัยโบราณของชุมชนสะเอียบก็ถือตามความเชื่อ คือ วันพระ และวันนาค่ำ และเวลามีงานศพ จะไม่มีการต้มเหล้า ถ้ามีการต้มเหล้าจะทำให้เหล้านั้นเสียได้ สุรามีชื่อเรียกกันหลายอย่าง เช่น เหล้า, เหล้าเถื่อน, เหล้าป่า ในสมัยก่อนการทำเหล้าทำยากลำบากมาก มักจะทำกันในป่า เพราะสะดวกแก่การซุกซ่อน และการหลบหนีกองปราบหรือสรรพสามิต จะซุกซ่อนเปลข้าว หรือกะละมังข้าวที่หมัก แล้วขุดหลุมนำไปซ่อนไว้ในป่าหญ้าแม็งวาย และนั่นก็คือที่มาของหญ้าที่เรียกกันว่าป่าหญ้าแม็งวาย คือที่ซ่อนเหล้าเถื่อนนั่นเอง คือเวลาทำเหล้าที่ไหน หญ้าก็จะวายวอดตายที่นั่น ในสมัยก่อนภาชนะที่ใช้หมักดอง หรือบรรจุน้ำเหล้าจะใช้หม้อดินเผา เป็นภาชนะบรรจุไว้ แล้วใช้ปล้องไม้ไผ่แทนการใช้ขวด หรือจอกเหล้าสำหรับดื่ม การที่เราเลือกใช้หม้อดินเผานั้น คือจะทำให้เหล้าที่บรรจุหม้อนั้นเกิดความหอมน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นการทำเหล้าของชุมชน ก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันที่เรียกกันว่า เหล้าเสรี หรือสุรากลั่นชุมชน และจนปัจจุบันได้มีการพัฒนาตามไปด้วย ตลอดถึงเครื่องบรรจุต่าง ๆ ก็ได้รับการพัฒนาไปด้วย นอกจากการทำเหล้าที่เป็นไปตามประเพณีแล้ว มีการทำเป็นอุตสาหกรรมส่งออกจากชุมชน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป และนี่ก็คือความเป็นมาของสุรากลั่นชุมชน ตำบลสะเอียบ ซึ่งในปัจจุบัน และต่อไปในอนาคตข้างหน้า ก็จะยังมีการทำสุรากลั่นชุมชนกันต่อไป เพราะในปัจจุบันการทำสุราถือเป็นอาชีพหลักของชุมชน ตำบลสะเอียบ และต่อไปสุราพื้นบ้านของสะเอียบก็จะพัฒนาขึ้นมาเทียบเท่าเหมาไถของจีนและสาเกของญี่ปุ่นได้ไม่ยาก.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สะเอียบโกอินเตอร์ – ลูกเล่น/ลีลา

Posts related