แจงแผนอีสต์เวสต์ คอริดอร์ พลิกโฉมเวียดนาม ลาว  ดานัง สะหวันนะเขต มีการลงทุนใหม่เพียบตั้งแต่โรงงานผลิตแว่นตา ยันชิ้นส่วนเครื่องบิน ห่วงปัญหาอุบัติเหตุการขับรถข้ามประเทศ แนะตั้งประกันภัยชายแดน สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ นักวิชาการศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกล่าวระหว่างการสัมมนาวิชาการอีสาน–ลาว-ขแมร์ ศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน หลังการประกาศเขตเศรษฐกิจภูมิภาคลุ่มน้ำโขงว่า ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลง เวียดนามได้ยกระดับเมืองดานังจากเมืองมาเป็นนครมาเป็น 10 ปีแล้ว มีโรงแรมเกิดใหม่จำนวนมากเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เพื่อจะให้เมืองดานังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเวียดนามตอนกลางและ จ.ฮาติงมีบริษัทถลุงเหล็กของไต้หวันมาลงทุนนับหมื่นล้านบาท ขณะที่เมืองสะหวันนะเขตของลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการสร้างหอประชุมที่เรียกว่า สะหวันไฮเทค และมีเศรษฐกิจพิเศษที่มีกลุ่มทุนมาเลเซียวางแผนที่จะสร้างเมืองแห่งใหม่ที่ชื่อว่าสะหวันซิตี้และมีโลจิสติกส์ปาร์ก ซึ่งยังอยู่ในกระดาษเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่ดำเนินการไปมากแล้วคือสะหวันพาร์ค ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่เชิญนักลงทุนจากต่างชาติมาลงทุนมีโรงงานผลิตเลนส์แว่นตาจากฝรั่งเศสที่ใหญ่ติดอันดับโลก มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน โรงงานแคนนอน เพราะได้รับข้อยกเว้นพิเศษด้านภาษีและมีส่วนที่เขาเตรียมไว้คือ การอพยพผู้คนที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจให้มาตั้งรกรากใหม่ เหล่านี้เป็นโครงการที่สะหวันนะเขตให้ความสำคัญ นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ  กรรมการมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้ปีละ 2.4 ล้านคัน ขายในประเทศ 1.3 ล้านคันที่เหลือส่งออกนำรายได้เข้าประเทศปีละ 2 แสนล้านบาท ถือเป็นลำดับ 9 ของโลก ประเทศในอาเซียนที่ผลิตรถยนต์มี 5 ประเทศ รวมแล้วจำนวน 4.2 ล้านคัน 58 เปอร์เซ็นต์ผลิตในประเทศไทยรองลงมาเป็นอินโดนีเซียผลิตได้ปีละ 1 ล้านกว่าคัน ส่วนประเด็นที่กังวลในอาเซียนสำหรับประเทศไทย คือ ระบบการจราจรที่ประเทศไทยยังขับรถพวงมาลัยขวาขณะที่ 4 ประเทศใช้พวงมาลัยซ้าย ประเทศเวียดนามมีกฎหมายห้ามรถพวงมาลัยขวาเข้าประเทศ มีคำแนะนำว่าเมื่อจะขับรถยนต์ไปยังประเทศที่ใช้พวงมาลัยซ้ายควรติดกล้องซีซีทีวีไว้ที่ด้านขวาของรถเพื่อดูสภาพทางผ่านกล้องได้ ส่วนการล็อบบี้ประเทศต่าง ๆ ให้เปลี่ยนพวงมาลัยรถนั้นเป็นเรื่องการเมืองที่ต้องไปเจรจานอกจากนี้การขับรถผ่านแดนเจ้าหน้าที่กงสุลในบางประเทศไม่สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง รวมทั้งระบบประกันภัยรถยนต์ที่ประเทศไทยมีระบบการดูแลทั้งคนขับและผู้โดยสาร แต่ประเทศเพื่อนบ้านไม่มี เมื่อเขาขับรถเข้ามาแล้วเกิดอุบัติเหตุถือเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นควรมีธุรกิจประกันภัยไปตั้งไว้ที่ชายแดนกำหนดเป็นวันเวลา อาทิ 1-2 สัปดาห์ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิดนักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชาวไทย เปิดปาฐกถาในหัวข้อประวัติศาสตร์เปรียบเทียบของ 3 อนุภาคว่า แผ่นดินอีสานมีพื้นที่มากที่สุด มีประชาชนมากที่สุดของประเทศ แต่ก็มีปัญหามากที่สุด หากย้อนดูอดีตเมื่อ 100 ปีก่อน  3 รัฐ คือ ไทย ลาว กัมพูชา ไม่ได้เป็นรัฐใดรัฐหนึ่งอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ทั้งนี้การปกครองในอดีตภูมิภาคนี้เป็นรูปแบบมณฑลที่มีความจงรักภักดีต่อผู้ครองนคร เมืองจะล่มสลายลงเมื่อเจ้าผู้ครองเมืองสิ้นลง เท่ากับเครือข่ายความภักดีก็สลายไปด้วย เมื่อมาดูแผ่นดินอีสานมีมาตั้งแต่ยุคหิน เข้าใจว่าอีสานคงเป็นคนนอกรัฐเคยมาอยู่ไม่อยากอยู่เวียงจันทน์ อยุธยาเท่าที่มีหลักฐานพบว่าเมื่ออาณาจักรล้านช้างอ่อนกำลังลงผู้คนจากหลวงพระบาง เวียงจันทน์อพยพมาโดยไม่มีการกวาดต้อนทำให้เกิดเป็นหน่วยการเมืองขึ้นมาเพราะมีราษฎรเป็นที่มาของแรงงานและส่วย ส่วนการแบ่งดินแดนแบบรัฐสมัยใหม่ถูกเรียกว่าถูกสร้างโดยคนข้างนอกทั้งสิ้น อาทิ ฝรั่งเศส กัมพูชาถูกจัดสรรแบ่งเขตโดยฝรั่งเศส ส่วนแผ่นดินอีสานนั้นคนจากสยามเข้ามาครอบครองภาคอีสานถูกผนวกเข้าไปในรัฐสยาม กัมพูชาและลาวถูกผนวกเข้าไปในสิ่งที่เรียกว่าอินโดจีนของฝรั่งเศส เมื่อเป็นรัฐสมัยใหม่มีการสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ที่เห็นชัดอย่างนครวัด นครธมนั้นเมื่อ 100 ปีก่อนไม่ใช่สัญลักษณ์สถานที่โรแมนติกท่องเที่ยวเหมือนที่ฝรั่งเศสเข้าใจ แต่เป็นแหล่งบำเพ็ญบุญทางพุทธศาสนา มีชีปะขาว ฤาษีไปนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า ประชาชนทั้ง 3 ภูมิภาค เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรัฐสมัยใหม่จะเข้าถึงทรัพยากรได้แตกต่างกัน ที่เห็นได้ชัดในกัมพูชาหลังปี ค.ศ.1989 เมื่อเปลี่ยนระบบการทำนารวมมาเป็นรูปแบบแบ่งที่ดินทำกินที่ต้องใช้อิทธิพลและอำนาจเงิน ทำให้คนจนไม่มีหลักประกันด้านอาหาร หลุดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ทำให้เกิดการอพยพโยกย้ายหนีความลำบาก ในปี ค.ศ.1995 ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียได้ริเริ่มเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านผู้นำทางอนุภาคลุ่มน้ำโขงในโครงการอีสต์เวสต์ อีโคโนมิค คอริดอร์ (EastWest Economic Coridor)   หลังจากประกาศแล้วมีการพัฒนาเป็นระยะ เช่น ประเทศไทยมีการกู้เงินมาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงใน จ.นครพนม การสัมมนาวิชาการอีสาน–ลาว-ขแมร์ ศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียนเป็นกิจกรรมสัมมนาประจำปี 2556 ที่มูลนิธิโตโยต้าไทย จำกัด มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอุบล ราชธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อกระตุ้นให้มีการนำความรู้ความเข้าใจที่ได้ไปปรับใช้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยมีหัวข้อเสวนาหลากหัวข้อ อาทิ  แรงงานข้ามชาติในอีสาน ความหลากหลายทางชาติพันธุ์อีสาน-ลาวใต้-เขมร เหนือการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง เป็นต้น.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : อีสาน-ลาว-ขแมร์ ในกรอบอาเซียน

Posts related